HEALTH

สบส. เผยคนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงการกินหมูกระทะ แนะแยกตะเกียบคีบสุก-ดิบ ลดน้ำอัดลม และสามชั้น

นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ปัจจุบันการบริโภคอาหารบุฟเฟ่ต์ (Buffet) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกินหมูกระทะ จากผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงการกินหมูกระทะของคนไทย จำนวน 26,689 ราย ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 4-22 ธันวาคม 2566 โดยกองสุขศึกษา พบว่า มีผู้นิยมกินหมูกระทะถึงร้อยละ 32.1 โดยมี 5 พฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ อาจนำไปสู่การติดโรคจากเชื้อแบคทีเรีย หรือการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ได้แก่

1) การไม่แยกตะเกียบ หรือแยกแค่บางครั้งระหว่างตะเกียบที่ใช้คีบหมูดิบกับหมูสุก ร้อยละ 44.7 เสี่ยงติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับ

2) กินหมูสามชั้นทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้งเมื่อกินหมูกระทะ ร้อยละ 62.9 นำไปสู่ภาวะไขมันเกินจนเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ

3) ดื่มน้ำอัดลมร่วมกับกินหมูกระทะทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้ง ร้อยละ 58.4 นำไปสู่ภาวะได้รับน้ำตาลเกิน เกิดปัญหาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน

4) เน้นกินอาหารทะเล ร้อยละ 58.8 มีโอกาสได้รับคอเรสเตอรอลสูง หรือได้รับฟอร์มาลีนที่ใช้รักษาความสดของอาหารทะเลเข้าสู่ร่างกาย

5) เลือกกินให้อิ่มมากเกินปกติทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้ง ร้อยละ 42.1 ทำให้ได้รับสารอาหารที่มากเกินความจำเป็น

นายแพทย์สามารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนสามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือการเกิดโรคได้ ด้วยการแยกอุปกรณ์ในการตักหรือคีบระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ และกินอย่างเหมาะสม “ลดหวาน มัน เค็ม” ดื่มน้ำสะอาดแทนน้ำหวาน กินผลไม้แทนขนมหวาน กินเนื้อปลา ไก่ หรือหมู ที่มีไขมันน้อย ลดการใช้ซอสปรุงรส หรือน้ำจิ้ม เพื่อลดปริมาณโซเดียม และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อใช้เวลาย่อยอาหารน้อยลง ดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ลดปริมาณอาหารที่กินและควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ไม่ควรกินบุฟเฟ่ต์มื้อหนัก ๆ เกิน 1-2 ครั้งต่อเดือน และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

Related Posts

Send this to a friend