HEALTH

คณะแพทยศาสต์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานวันโรคอ้วนโลก

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) ประจำปี 2567 “Let’s talk about obesity and Health” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 โดยมีนักวิชาการ และภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดี พร้อมเดินหน้ารณรงค์หยุดการเพิ่มขึ้นของวิกฤตโรคอ้วน

ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ และเป็นต้นแบบให้กับสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมย้ำว่าสังคมสุขภาพดีสร้างได้ หากเราทุกคนร่วมมือกัน ทั้งนี้ เชิญชวนให้ทุกภาคส่วนที่เป็นเสาหลักด้านสุขภาพของประเทศร่วมรณรงค์การสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อยุติการเพิ่มขึ้นของวิกฤตโรคอ้วนไปด้วยกัน

ศ.ดร.นพวรรณ เปียซื่อ รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยพบว่าความชุกของโรคอ้วนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โรคอ้วนถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด 9 เป้าหมายรับมือสถานการณ์โรคไม่ติดต่อภายในปี 2568 เพื่อยับยั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลก หนึ่งในเป้าหมาย คือ ความชุกภาวะอ้วนจะต้องไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเสี่ยงทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งบางชนิด

ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร ประธานคณะกรรมการป้องกันและจัดการโรคอ้วนแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคอ้วนนับเป็นภัยคุกคามสุขภาพในทุกช่วงวัย พบความชุกโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารจานด่วนแบบตะวันตก อาหารที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการ น้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีพลังงานสูง ร่วมกับการใช้ชีวิตที่มีกิจกรรมทางกายลดลง และขาดการออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมถือเป็นปัจจัยป้องกันที่สำคัญ ที่ทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ

ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วิกฤตโรคอ้วนเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องการลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะโรคอ้วนหรือการที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายโรคที่ร ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาพและร่วมกันหาแนวทางที่ครอบคลุมในทุกมิติให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี จะช่วยยุติวิกฤตโรคอ้วนและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ที่ปรึกษาคณบดีด้านบริหารและพัฒนาคุณภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพบุคลากร มีความเกี่ยวข้องกับมาตรฐานโรงพยาบาล เป็นตัวบอกว่าหากองค์กรมีคนทำงานที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย จะทำให้ได้ผลงานดี มี productivity สูง การจัดการโรคอ้วนเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิต ต้องดูบริบทเฉพาะบุคคล เนื่องจากมีปัจจัยที่ซับซ้อนของสังคมและในตัวบุคคลที่ต้องนำมาร่วมพิจารณา

นพ.ณัฐดนัย รัชตะนาวิน MD CEO & Founder FitSloth กล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่การลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะอ้วนได้ แต่ต้องทำง่ายและยั่งยืนถึงจะมีประโยชน์ FitSloth ได้สร้างเครื่องมือที่ช่วยแนะนำอาหารเฉพาะบุคคลให้กับผู้ใช้งานจากอาหารรอบตัว โดยคำนวณแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีทีมแพทย์ติดตามดูแล lifestyle ให้ผู้ใช้งานโดยอาศัยหลักการของ Lifestyle Medicine

ดร.ภัทราภา เวชภัทรสิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง Nudge Thailand กล่าวว่า การประยุกต์ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral economics) เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ออกแบบตัวเลือกในการตัดสินใจ เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่พฤติกรรมสุขภาพที่ดี หลายพฤติกรรมที่รู้ว่าดี แต่ยังทำไม่ได้สักที เช่น การบริโภคเพื่อห่างไกลโรคอ้วน ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ดีและลดโรคอ้วนได้

รศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสังเกต ใส่ใจตนเองทางด้านร่างกายและจิตใจ และการเพิ่มแรงจูงใจภายในในการดูแลสุขภาพ เป็นแนวทางที่จะช่วยให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ส่งผลดีในการป้องกันโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ดี

เชฟพล ตัณฑเสถียร กล่าวว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy food) ที่เน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติ มีใยอาหารเป็นองค์ประกอบ และลดหวาน ลดมันและลดโซเดียม สามารถทำให้อร่อยได้หากเข้าใจองค์ประกอบของความอร่อยที่จะเกิดขึ้นในอาหาร การเลือกวัตถุดิบที่มาช่วยเสริมรสชาติและใช้เทคนิคการประกอบอาหาร จะช่วยทำให้อาหารอร่อยและเป็นมิตรกับสุขภาพได้

Related Posts

Send this to a friend