HEALTH

แพทย์ จุฬา เผยคนไทยเสี่ยงเป็น ‘โรคใหลตาย’ สูง โดยเฉพาะผู้ชาย แนะควรเช็คอาการแต่เนิ่น ๆ ลดโอกาสการเสียชีวิต

แพทย์ จุฬาฯ เปิดผลวิจัย พบว่าคนไทยจำนวนมากมียีนโรคใหลตาย พบมากในภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งผู้ชายจะเสี่ยงเป็นโรคมากกว่าผู้หญิง แนะผู้มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นโรค สังเกตอาการเสี่ยง และตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษา พร้อมปรับพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต

ศาสตราจารย์ นพ.อภิชัย คงพัฒนะโยธิน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคใหลตายพบมากในประชากรชายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนประเทศไทย พบอัตราผู้เป็นโรคนี้มากที่สุดในภาคอีสานและภาคเหนือ มักเกิดกับชายหนุ่มร่างกายปกติแข็งแรง โดยจะหลับและละเมอก่อนจะเสียชีวิต นำมาสู่ความสำคัญของการวิจัยโรคใหลตาย ที่ปัจจุบันเกิดคณะทำงานวิจัย Thai BrS เกี่ยวกับ Brugada syndrome (BrS) โดยจุฬาฯ เป็นแกนหลักในการทำวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 15 สถาบันในประเทศไทย

โรคใหลตาย คือการเสียชีวิตขณะนอนหลับ อันเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจนทำให้เสียชีวิต มักแสดงอาการในเวลากลางคืน คือหายใจเฮือกที่เกิดขึ้นภายหลังหัวใจเต้นผิดจังหวะ แล้วไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมอง คนไข้จะมีอาการกระสับกระส่าย เกร็ง เหมือนเป็นลมในขณะนอน เมื่อตื่นมา จะมีอาการเบลอ ๆ บางคนอาจเป็นลมในตอนกลางวัน และมักเป็นลมตอนที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรหนัก ในรายที่ร้ายแรงที่สุดคือนอนเสียชีวิตไปแล้ว สำหรับบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ปรากฎ ทำให้ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้

ทั้งนี้ โรคใหลตายพบมากในกลุ่มคนเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทยและจีนตอนล่าง โดยอัตราการเกิดโรคในไทย คือ 1 ใน 1,000 คน ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ อัตราการเกิดโรคอยู่ที่ 1 ใน 2,000 คน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีการตั้งข้อสมมติฐานไว้ที่เรื่อง “พันธุกรรม” ซึ่งกำลังศึกษาต่อไปว่า พันธุกรรมตัวใดที่ทำให้คนไทยเป็นโรคนี้มากกว่าชาติอื่น

อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยเอง โรคใหลตายมักพบในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่พบน้อยในภาคใต้ ทั้งนี้ คาดว่าในภาคอีสานจะมีคนที่มีระดับโพแทสเซียมต่ำ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะใหลตายและเสียชีวิตได้ง่ายขึ้นหรือไม่ หรือจะเป็นสมมติฐานเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน เนื่องจากในภาคเหนือและอีสาน ผู้คนมักกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งยังอยู่ในขั้นศึกษาวิจัยต่อไป

ปัจจุบัน พอสรุปได้ว่าโรคใหลตายเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ
สาเหตุทางพันธุกรรม (Genetic) ซึ่งพบการกลายพันธุ์ในลักษณะที่พบน้อยหรือไม่พบในประชากรปกติ (Rare variants) ประมาณ 20% ในยีนที่เรียกว่า “SCN5A” ซึ่งเป็นยีนที่ควบคุมการไหลเข้าไหลออกของโซเดียม ของเซลล์ในกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง นำไปสู่การเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ มีหลักฐานการกลายพันธุ์อย่างน้อยในยีน 3 ตัวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ เรียกว่า สนิปส์ เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคประมาณ 2-2.5 เท่า ถ้ามีหลายตัวโอกาสจะมีมาก

สาเหตุที่ไม่ใช่ส่วนของพันธุกรรม (Environmental) บางครั้ง โรคใหลตาย มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต ยิ่งถ้าเป็นโรคใหลตายแล้วมีไข้ โอกาสที่จะเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะจะสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ยังคาดว่าอาจจะมาจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อีก เช่น เพศชายมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเพศหญิง หรือการบริโภคอาหารจำพวกข้าว แป้ง น้ำตาล และแอลกอฮอล์จำนวนมากเกินไป

สำหรับการค้นหาความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้เป็นเรื่องยาก เพราะต้องตรวจคลื่นหัวใจเป็นรายบุคคล ศ.นพ.อภิชัย จึงแนะให้เฉพาะผู้ที่มีสัญญาณ “เสี่ยง” มาพบแพทย์เพื่อตรวจคลื่นหัวใจ โดยสามารถประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ดังนี้

1.มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคใหลตาย หากมีคนในครอบครัวและเครือญาติเป็นโรคใหลตายหรือเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุในช่วงอายุยังน้อย เช่น 40-50 ปีลงมา คนในครอบครัวจะมีความเสี่ยง

2.เคยมีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะคนอายุน้อย การเป็นลมที่เชื่อมโยงกับโรคใหลตายมักมีอาการที่ไม่เหมือนเป็นลมธรรมดา เช่น ก่อนเป็นลมมีอาการหัวใจเต้นไม่ปกติหรือมีอาการใจสั่น เป็นลมเป็นเวลานาน ตื่นมาแล้วเบลอ หรือ ร่วมกับมีอาการชัก เกร็ง กระตุก หรือเป็นลมในขณะที่ไม่ควรจะเป็น เช่น ออกกำลังแล้วเป็นลม เป็นต้น

3.มีความผิดปกติเวลานอนหลับ เช่น มีอาการกระสับกระส่าย หรือมีภาวะการหายใจติดขัด หรือมีอาการเกร็งร่วมด้วย แล้วตื่นขึ้นมาตอนเช้ามีอาการมึนงง เบลอ ๆ เหมือนกับสมองขาดเลือด

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคใหลตาย แต่หากพบว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะให้การรักษาตามอาการแบบประคับประคอง ได้แก่

1.การฝังเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ สำหรับผู้ที่มีอาการโรคใหลตายแล้ว เช่น ผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นแล้วต้องปั๊มหัวใจขึ้นมา แพทย์จะแนะนำให้ใส่เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ

2.การจี้หัวใจ เป็นการรักษาที่ได้ผลดี โดยปัจจุบัน จุฬาฯ ใช้การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง กับคนไข้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว จากโรคนี้

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคใหลตาย จึงควรที่จะรู้จักตรวจสอบอาการอยู่เสมอ หากเข้าข่ายจะเป็นโรค ให้เข้ารับการตรวจทันที เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคใหลตาย ทีมแพทย์จะแนะนำให้ทราบถึงปัจจัยที่จะไปกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะแล้วจะทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการปฏิบัติ ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงกลุ่มยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ลดการทำงานของ Sodium channel

2.หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดไข้สูง หากไม่สบายเป็นหวัดและมีไข้ ต้องกินยาลดไข้ พยายามอย่าให้ไข้สูง หมั่นเช็ดตัวเสมอ

3.หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มมึนเมาหรือสารเสพติดทุกชนิด

4.หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักที่มีคาร์โบไฮเดรตและให้พลังงานสูง

Related Posts

Send this to a friend