HEALTH

แนะกลุ่มเสี่ยง รับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน ลดอาการรุนแรงจากโรคทางเดินหายใจ

ประเทศไทยมีกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องราว 500,000 คน อาจเกิดจากภาวะทางสุขภาพหรือการรับประทานยาบางชนิดระหว่างกระบวนการรักษา เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ร่างกายตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันได้ไม่เพียงพอ จึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังรวมถึงประชากรกลุ่มเสี่ยง 607 ซึ่งหมายถึงผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่า 138,766 ราย หรือเทียบเป็นอัตราป่วยเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงถึงแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งมียอดผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงตามที่กล่าวไป ดังนั้น ประชากรกลุ่มเสี่ยงจึงควรได้รับการเสริมภูมิคุ้มกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อและมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้ เพื่อลดจำนวนตัวเลขผู้ป่วยลง สำหรับคนทั่วไป ป้องกันตนเองด้วยการหมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด หรือการสวมหน้ากากในที่สาธารณะ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยในฤดูระบาด แต่สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง แนวทางดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ การฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด-19 จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพื่อลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคข้างต้น

นอกจากวัคซีนแล้ว ยังมีแนวทางเพิ่มเติมในการป้องกันโควิด-19 สำหรับกลุ่ม 607 และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิ การเข้ารับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long-acting Antibody – LAAB) ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่สามารถออกฤทธิ์ได้ภายใน 6 ชั่วโมง แตกต่างจากวัคซีนที่ร่างกายจะใช้เวลากระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ช่วยให้ผู้ที่ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่เพียงพอพร้อมรับมือกับโควิด-19 ในฤดูกาลระบาดนี้

Related Posts

Send this to a friend