HEALTH

โรช ไดแอกโนสติกส์ จัดเสวนา HPV DNA Self-Sampling กุญแจสำคัญสู่ภารกิจพิชิตมะเร็งปากมดลูก

บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดเสวนาวิชาการ “HPV DNA Self-Sampling กุญแจสำคัญสู่ภารกิจ พิชิตมะเร็งปากมดลูกในไทยให้สิ้นซาก” เพื่อให้ความรู้ ข้อมูลสำคัญของการ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พร้อมแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง แก่นักเทคนิคการแพทย์ และอัพเดทสิทธิประโยชน์ ด้านสุขภาพสำหรับประชาชน ในโอกาสร่วมงาน ประชุมวิชาการสมาคมเทคนิคการแพทย์ (ACMTT) ครั้งที่ 45 ซึ่งจัดโดยสมาคมเทคนิคการแพทย์ประจำปี 2566

โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเสวนา

ทั้งนี้เพื่อรณรงค์สตรีไทย ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือมีอายุตั้งแต่ 30-59 ปี ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ตอกย้ำแนวคิดตรวจพบเชื้อ HPV ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้ทันท่วงที และหากผลเป็นบวกอย่านิ่งนอนใจ ต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม จะช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก และเสียชีวิตได้ โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมาก เป็นอันดับ 5 ของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย โดยมีข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็ง ที่ป้องกันได้ถึงร้อยละ 80 หากได้รับการตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อ HPV อย่างสม่ำเสมอ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “ปัจจุบันคนไทย 48 ล้านคน มีสิทธิบัตรทองที่เมื่อเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง แต่มี สปสช. เป็นตัวแทนรัฐบาลในการรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ นอกจากการรักษาพยาบาล สปสช.ยังมีสิทธิประโยชน์ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งดูรายละเอียดได้ผ่านแอปเป๋าตัง ซึ่งจะมีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ของผู้หญิงอยู่ 22 รายการ จำแนกตามเพศและกลุ่มอายุ สำหรับสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งปากมดลูกปีนี้ ตั้งเป้าหมายไว้ 1.2 ล้านคน ดำเนินการไปแล้ว 7 แสน หรือราวๆ 56.8% จึงอยากเชิญชวนให้สตรีกลุ่มเสี่ยงมาใช้สิทธิ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะหากพบเชื้อระยะต้นๆ จะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที และหากผลออกมาเป็นลบ แปลว่าท่านปกติ อีก 3-5 ปี ค่อยมาตรวจใหม่”

“ปัจจุบันการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสตรีไทยอายุ 30-59 ปี สามารถขอรับชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ได้ที่โรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ และขอรับชุดเก็บตัวอย่างได้ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โรคมะเร็งปากมดลูก นับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย และแม้ว่าเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย และมีอัตราการเสียชีวิตปีละเกือบ 5,000 ราย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นมะเร็งที่รักษาได้ หากพบในระยะแรกเริ่ม เนื่องจาก 70% ของโรคเกิดจากการติดเชื้อ HPV (เอชพีวี) สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อหาการติดเชื้อเอชพีวีในระยะแรกเริ่ม เพื่อนำไปสู่การรักษา จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญ เพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก จึงหวังว่าการร่วมกับภาคเอกชนประชาสัมพันธ์ ให้สตรีรับทราบข้อมูลมากขึ้น เกิดความเข้าใจ จะทำให้สตรีเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ มากขึ้นตามนโยบายของ สปสช.”

ด้าน นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การตรวจคัดกรองด้วยวิธีเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง จะช่วยแก้ปัญหาอายแพทย์ และกังวลการขึ้นขาหยั่งได้ ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจมีความสะดวกมากขึ้น ที่สำคัญปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศแล้วว่าการตรวจ HPV DNA Self-Sampling มีความคุ้มค่า แนะนำให้เป็นมาตรฐาน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สําหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รายได้ต่ำ ซึ่งในอดีตการตรวจแบบนี้ จะมีเฉพาะในประเทศที่รายได้สูงแต่ล่าสุด WHO ได้ประกาศแล้วว่าการตรวจนี้มีความคุ้มค่า เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ง่าย เก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ รวมทั้งประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ให้ตรวจฟรี จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยทางเลือกใหม่ที่เพิ่มเข้ามา จะช่วยให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ มากขึ้น”

“สำหรับวิธีการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองไม่ยุ่งยาก หมอแนะนําให้ใช้เก้าอี้ หรือว่าเข้าห้องน้ำ ล้างมือให้สะอาด ยกขาข้างหนึ่งไว้ จับก้านไม้ตรวจแล้วสอดเข้าไปให้ลึก ตามรอยเครื่องหมายที่อยู่บนก้านแปรงเก็บตัวอย่าง จากนั้นให้หมุนๆทำตามคู่มือ แล้วเก็บใส่หลอดเก็บตัวอย่าง ปิดฝา แล้วดำเนินการส่งให้ห้องแล็บตรวจต่อไป แนะนําว่าเมื่อรับชุดเก็บมาแล้ว ให้เก็บตัวอย่างด้วยตนเอง เก็บตัวอย่างเสร็จแล้ว ก็ส่งที่จุดตรวจ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางหน่วยงานที่เก็บจะส่งผลตรวจกลับมาที่แอพเป๋าตังเหมือนเดิม”

“เมื่อพบเชื้อเอชพีวี สิ่งที่สำคัญมากคือการตรวจเพิ่มเติม เช่น แพทย์ต้องทำการการส่องกล้อง เข้าไปดูแบบขยายสี่สิบเท่า (Colposcopy) แล้วชโลมน้ำยาบางอย่าง เพื่อให้เห็นรอยโรคชัดขึ้น และตัดเอาเนื้อชิ้นเล็กๆไปตรวจ ซึ่งผลชิ้นเนื้อนี้จะบอกได้ว่า เป็นระยะใดนั่นเอง เช่น ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ระยะหนึ่ง ระยะสอง เป็นต้น”
“เมื่อพบเชื้อในระยะแรกเริ่ม การรักษาจะสามารถทำได้ง่าย สะดวก มีโอกาสรักษาได้ เช่น สมมุติว่าเป็นระยะศูนย์ จะตัดแค่บริเวณชิ้นเนื้อแค่ปากมดลูก ไม่ต้องถึงขั้นตัดมดลูก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ใช้วิธีฉีดยาชาที่ปากมดลูก แล้วก็ใช้ขดลวดไฟฟ้าตัด เสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย ดังนั้น นี่คือความสําคัญ ที่อยากจะบอกคนไข้ทุกคนว่า หากผลตรวจออกมาเป็นบวก ให้รีบมาพบแพทย์ บางคนอาจจะไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ หรือหากพบเชื้อ จะได้ทําการรักษาแต่เนิ่นๆ อย่าลืมว่ามะเร็งในระยะแรกเริ่ม อาจจะแสดงอาการผิดปกติใดๆ กว่าจะไปรู้อีกทีก็กลายเป็นมะเร็งไปแล้ว”

“และแม้ว่าโรคนี้ไม่ถึงกับรักษาไม่ได้ แต่มันต้องเสียทรัพยากรในการรักษา ซึ่งในเมื่อหลีกเลี่ยงได้ด้วยการเข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยแล้ว จึงอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรอง HPV DNA จะแบบคุณหมอตรวจให้ หรือจะเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบ HPV DNA Self-Sampling ก็ได้ เพราะเชื้อ HPV ยิ่งตรวจพบไวยิ่งดี จะได้ทำการรักษาก่อนเชื้อพัฒนาไปเป็นมะเร็ง เพราะกันไว้ดีกว่าแก้ มดลูกแย่จะแก้ไม่ทัน”

Related Posts

Send this to a friend