สธ. เตือน ‘ชิคุนกุนยา’ เป็นโรคร้ายแรงที่มาพร้อมกับยุงลาย
หากพบมีไข้สูง 40 องศาฯ ร่วมกับปวดตามข้อติดต่อกัน 2-4 วัน รีบพบแพทย์ พร้อมแนะกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สาเหตุก่อโรค
วันนี้ (23 มิ.ย. 66) นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ ชี้ โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่ไม่อันตรายเท่าโรคไข้เลือดออก พบการระบาดมากในช่วงฤดูฝน แนะป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หากมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน ปวดตามข้อต่างๆและเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ผื่นขึ้นแดงตามตัว ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
นายแพทย์ณัฐพงศ์ กล่าวว่า “โรคชิคุนกุนยา” (Chikungunya) หรือ “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งเด็กเล็ก มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออกแต่ไม่รุนแรงเท่า โรคชิคุนกุนยามักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเรื้อรังต่อเนื่อง สำหรับในรายที่รุนแรงอาจพบเกล็ดเลือดต่ำและมีอาการช็อกได้ แต่พบได้น้อยมาก โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยากัด จะมีระยะฟักตัวของโรค 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยจะอยู่ที่ประมาณ 3-7 วัน”
ด้าน นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “เมื่อครบระยะฟักตัวผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน โดยอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-4 วัน และไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย บางรายอาจมีอาการบวมที่มือและเท้า หรือมีอาการคันร่วมด้วย รวมทั้งอาจจะมีตาแดง อาการที่เด่นชัดในผู้ใหญ่ คืออาการปวดข้อร่วมกับมีการอักเสบ มักพบที่ นิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า โดยมักจะพบได้หลายข้อ และเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ บางรายอาจมีอาการรุนแรง ทำให้ไม่สามารถขยับข้อได้ โดยอาการปวดข้อช่วงแรกมักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อ เกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อ อาจอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี แต่สำหรับในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่”
สำหรับ นายแพทย์ภาณุวัฒน์ วงษ์กุหลาบ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “โรคชิคุนกุนยามีความแตกต่าง จากโรคไข้เลือดออก โดยผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา ในรายที่รุนแรงอาจมีเกร็ดเลือดต่ำ และมีอาการช็อกแต่พบได้น้อยมาก บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ เป็นต้น โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงคือ ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน โรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง”
“โดยทั่วไปโรคนี้ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาตามอาการของโรค เช่น การให้ยาลดไข้ (ควรทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้และอาการปวด) แพทย์อาจให้ยาแก้ปวดในกลุ่มต้านอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อ และสามารถแยกโรคได้ จากโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยควรเช็ดตัวด้วยน้ำสะอาด เพื่อช่วยลดไข้ ดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ไม่ให้ยุงกัด เช่น ใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ทายากันยุง ติดตั้งอุปกรณ์กันยุง เช่น มุ้งลวดภายในบ้าน ทั้งนี้ ควรเก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ภาชนะที่ใส่น้ำจะต้องปิดฝาให้มิดชิด หรือหมั่นทำความสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำ ใส่ทรายหรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกัน ไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค คือ โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา”