ด้านการให้บริการและการรักษา
“ประเทศไทยมียารักษาโรคมะเร็งส่วนมากถูกบรรจุเข้าไปในระบบ ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงยาและเบิกค่ายาตามสิทธิที่พึงมีได้ผ่านระบบสาธารณสุข” ดร. ศุลีพร กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาการรักษาให้มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมากขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีคะแนนด้านนี้อยู่ในลำดับที่ 10 ร่วมกับ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยเน้นด้านการทำนโยบายที่ครอบคลุมถึงการติดตามผลระยะยาว การพักฟื้น และการทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการยกระดับประสิทธิภาพให้แก่เครื่องมือทางรังสีวิทยา และเพิ่มจำนวนรังสีแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา และบุคลากรสุขภาพด้านอื่นๆ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ ทำให้บางครั้งผู้ป่วยพบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งในรายงานได้แนะนำว่า ประเทศไทยควรมีการให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้น เช่น การตรวจแมมโมแกรม และการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ ตั้งแต่ในระดับสถานีอนามัย และสร้างความตระหนักด้านการคัดกรองและวิธีการรักษาให้ประชาชนในทั่วทุกพื้นที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น