HEALTH

กินอาหารคลายเครียดได้ไหม ต้องเลือกกินอาหารอย่างไรให้ได้ประโยชน์

กินของหวานแล้วอารมณ์ดี หายเครียด …
เวลาเครียดแล้วต้องกิน …
กินอะไรดีถึงจะหายเครียด …

เป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่หลายๆ คนสงสัยเกี่ยวกับอาหาร และความเครียด The Reporters พามาไขคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ อย่าง ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสส.

“อันดับแรกถ้าพูดถึงอาหารนั้น ช่วยลดความเครียดได้อย่างไร จำเป็นต้องย้อนกลับไปที่ เรื่องความเครียดก่อน ซึ่งสาเหตุของความเครียดนั้น มาจากเรื่องที่รบกวนจิตใจของเรา เช่น ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเงิน สำหรับใช้จ่ายในชีวิต การเสียชีวิตของบุคคลอันที่รัก หรือแม้แต่ความไม่สบายใจเกี่ยวกับเรื่องในครอบครัว ดังนั้นเราจำเป็นหาเหตุของผลให้เจอ เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาให้ทุเลาเบาบางลง หรือหากเราสามารถควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อความเครียดลงได้แล้ว ดังนั้นการกินอาหารเสริมเข้าไป ก็จะช่วยจัดการความวิตกกังวลได้ดียิ่งขึ้นครับ”

ดร.สง่า เผยอีกว่า อาหารที่มีคุณสมบัติลดความเครียด นอกจากการรับประทานให้ครบ 5 หมู่ อย่างเพียงพอแล้ว อาหารกลุ่มที่มีวิตามิน “บี,ซี,อี” ก็สามารถช่วยสร้างความผ่อนคลายได้ รวมถึง “อาหารที่มีสารเซโรโทนิน-สารเมลาโทนิน” ที่จัดอยู่ในหลายกลุ่มทั้งเครื่องดื่มอย่างนม หรือแต่ผลไม้หวานกลางๆ อย่างสับปะรด หรือน้ำสับปะรดคั้นสด และน้ำมะเขือเทศคั้นสด ก็สามารถช่วยลดความเครียดได้ดีเช่นกัน

“เริ่มจาก มะเขือเทศ ที่กินแล้วจะช่วยสร้างความผ่อนคลาย ที่สำคัญยังมีวิตามินซีสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และสารกาบ้า ที่กินแล้วจะช่วยทำให้ผ่านคลายลงได้ ทั้งนี้เราสามารถทำเป็นรูปแบบของน้ำมะเขือเทศคั้นสด หรือจะใส่เป็นเครื่องปรุง ในอาหารเมนูต่างๆ ก็ได้เช่นกัน แต่อย่าลืมว่าคุณสมบัติเหล่านี้ อาจไม่ได้มีอยู่เยอะในอาหารชนิดเดียว หรือชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนั้นก็จำเป็นต้องรับประทาน นม ซึ่งนมทุกชนิดจะมีสารเมลาโทนิน (ฮอร์โมนที่สร้างจากสมองของเรา เพื่อช่วยควบคุมการนอนหลับ และเป็นนาฬิกาชีวิตของร่างกาย) ดังนั้นก่อนนอนแนะนำให้ดื่มนมอุ่นๆ 1 แก้ว ก็จะช่วยทำให้ผ่อนคลายและนอนหลับได้ง่าย ดังนั้นจึงช่วยลดความเครียดได้ดี จากการกินอาหารกลุ่มนี้”

“นอกจากนี้การรับประทาน ผลไม้หวานน้อย ก็ช่วยลดเครียดคลายกังวลได้ เช่น แอปเปิ้ล (วิตามินซีสูง) ,ฝรั่ง (วิตามินซีสูง),แก้วมังกร (วิตามินซีสูง,วิตามิน บี 1,บี 2,บี 3),ลูกแพร์ (วิตามินบี 3) ,ลูกพีท (วิตามินเอ,วิตามินซี,วิตามินอี) ,ส้มโอ (วิตามินซีสูง) รวมถึงกลุ่ม ผลไม้หวานกลาง เช่น แตงโม ส้มเขียวหวาน หรือ สับปะรด ที่อุดมไปด้วยสารเซโรทิน (สารแห่งความสุข) ที่ช่วยสร้างความสุข ก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังช่วยย่อยได้ดี เพราะกากใยอาหารเยอะ แต่ทั้งนี้ไม่ควรกินผลไม้หวานกลางติดต่อกัน เพราะจะทำให้ร่างกายเกิดเครียดได้เช่นกัน จากการสะสมน้ำตาลในผลไม้ที่หวานไม่มาก ที่อาจเพิ่มจำนวนน้ำตาล จากบริโภคต่อเนื่องกัน ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ”

ดร.สง่า บอกอีกว่า คนรักสุขภาพควรบริโภคผลไม้หวานจัดอย่างพอดี เช่น ทุเรียน,ขนุน,กล้วย,มะม่วงน้ำดอกไม้สุก,ละมุด,ลิ้นจี่,ลำไย,น้อยหน่า ฯลฯ รวมถึงอาหารและขนม ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสูง เพราะอาหารหวานจัดเหล่านี้ เป็นสาเหตุของความเครียด หรือกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความเครียดได้ง่ายขึ้น หมายความว่าการที่เราบริโภคที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยว หรือ น้ำตาลทรายขาวที่ผ่านการขัดสี จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรดมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ร่างกายไม่สมดุล หรือร่างกายเกิดการอักเสบ และเป็นสาเหตุของโรครื้อรังอื่นๆตามมา เช่น ปวดหัว,ตัวร้อน,ปวดไมเกรน,มีผื่นคัน,เป็นแผลพุพอง,โรคเบาหวาน,โรคหัวใจ และโรคมะเร็งตับ ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่าอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ ที่มีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารหวานจัด ไม่เพียงก่อให้เกิดโรครื้อรัง แต่ยังทำให้ความเครียดความกังวลใจเพิ่มขึ้น จากการเจ็บป่วยอีกด้วย

“ส่วนประเด็นของการที่กินช็อกโกแลต และทำให้หายเครียดได้นั้น เนื่องจากยังไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ ว่าสามารถช่วยได้จริง หรือยังไม่มีงานวิจัย ที่ออกมาระบุชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนั้นหากจะบริโภคก็ควรที่กินให้น้อยลง หรือกินให้พอดี เพราะอันที่จริงแล้วของหวานก็มีประโยชน์ ในแง่ของการที่ร่างกาย นำกูลโคสจากน้ำตาล ไปช่วยเสริมสร้างพลังงานให้ร่างกาย หรือทำให้รู้สึกมีแรงกระปรี้กระเปร่า แต่ถ้ากินมากไปก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนที่บอกว่ากินช็อกโกแลต และเมนูของหวานชนิดอื่นๆ เช่น คุกกี้,บิงซู ฯลฯ และทำให้อารมณ์ดีนั้น เป็นเพราะว่าเราหิวเมื่อกินขนมเหล่านี้ก็ทำให้อิ่ม จึงรู้สึกว่าอารมณ์ดีขึ้น เพราะมีความหวาน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพียงแค่ความสุขชั่วคราว”

“ประกอบกับเมื่อหลายคนบริโภคอาหารเหล่านี้แล้ว ทำให้เรารู้สึกโก้เก๋ หรือดูดี อาทิ เมนูจากช็อกโกแลต เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ห้ามรับประทาน แต่ต้องบริโภคอย่างพอดี และนอกจากอาหารแล้ว การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ และการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และอยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง ก็สามารถช่วยคลายเครียดคลายกังวลได้เช่นกัน” ที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าว

ดร.สง่า กล่าวย้ำว่า สิ่งสำคัญนั้นหากเกิดความเครียด จำเป็นต้องหาสาเหตุให้เจอ และควบคุมปัจจัยที่เป็นสาเหตุ ของความวิตกกังวลเหล่านั้นให้ได้ ดังนั้นเมื่อรับประทานอาหารกลุ่ม ที่มีคุณสมบัติลดความเครียดเสริมเข้าไป ก็จะยิ่งทำให้ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์มากยิ่งขึ้น

Related Posts

Send this to a friend