HEALTH

ท่านวดแก้เมื่อย รับมือออฟฟิศซินโดรม คุณทำได้ง่ายนิดเดียว

ไล่อาการปวดเมื่อยและตึงคอบ่าไหล่ ด้วยสองมือของคุณ กับ “ท่านวดแก้อาการออฟฟิศซินโดรม” ที่งานนี้หากหนุ่มสาววัยทำงาน รู้สึกไม่สบายตัวเมื่อไร ก็สามารถบีบนวด ในระหว่างวันได้อย่างง่ายๆ หรือเอ็กเซอร์ไซส์ในช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน กระทั่งขณะนั่งรถกลับบ้านก็ได้เช่นกัน เพราะหากปล่อยให้อาการปวดทวีความรุนแรงขึ้น ไม่เพียงส่งผลต่อการทำงาน แต่อาจก่อให้เกิดโรครื้อรังตามมาได้ ทั้งอาการปวดเมื่อยบริเวณส่วนต่างๆของร่างกาย หรือจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง นอกจากนี้ยังทำให้ไม่มีสามาธิ ในการทำสิ่งต่าง เพราะเกิดอาการบาดเจ็บ ที่กล้ามเนื้อตลอดเวลา อันเนื่องจากการนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ

นพมาศ คารวานนท์ ครูสอนนวดแผนไทยวัดโพธิ์ ได้ให้ข้อมูลกับ The Reporters เกี่ยวกับ ท่านวดแก้อาการปวดเมื่อย จากภาวะออฟฟิศซินโดรม ที่สามารถนวดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเริ่มจากการนวดบ่า ท้ายทอย ต้นคอ เบ้าตา และขมับ เพื่อไล่อาการปวดเมื่อย และตึงบริเวณดังกล่าว พร้อมด้วยข้อควรระวัง ในการนวดตัวเองไว้ว่า ท่านวดแก้ออฟฟิศซินโดรมที่อยากให้แนะนำให้คนวัยทำงานที่นั่งหน้าคอมฯ ทำ ประกอบด้วย 5 ท่าหลัก ที่เริ่มจาก 1.ท่านวดบ่า 2.ท่านวดท้ายทอย 3.ท่านวดต้นคอ 4.ท่านวดขมับ และ 5.ท่านวดเบ้าตา

ครูสอนนวดแผนไทย บอกอีกว่าทั้ง 5 ท่าสามารถทำด้วยตัวเองได้ ที่แม้ว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องทุกวัน เพราะอันที่จริงแล้วการออกกำลังกายนั้นดีที่สุด แต่หากรู้สึกเริ่มปวดตึงๆ บริเวณดังกล่าว ก็สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแต่การนั่งรถกลับบ้านก็ทำได้

เริ่มจากท่าที่ 1.ท่านวดบ่า วิธีทำเริ่มจาก 1.นั่งตัวตรงหน้าคอมพิวเตอร์ 2.ให้นำมือด้านขวาไปนวดที่บริเวณบ่าด้านซ้าย โดยแนะนำให้ 4 นิ้ว คือ นิ้วชี้ กลาง นาง ก้อย 3.ให้ใช้ปลายนิ้วทั้ง 4 กดลงไปในลักษณะของการจิก (คล้ายตะขอ) จากนั้นให้เริ่มนวดตั้งแต่บริเวณต้นคอ ไล่ไปจึงถึงมุมหัวไหล่ 4.ให้สลับนวดโดยการเปลี่ยน จากการใช้มือซ้ายไปนวดที่บ่าข้างขวา ทั้งนี้ให้ทำข้างละประมาณ 5-10 รอบ

นพมาศ กล่าวเสริมว่า ระยะเวลาหรือความพอดี ในการนวดบ่าด้วยตัวเองนั้น ขณะที่กำลังกดปลายนิ้วทั้ง 4 เพื่อทำการนวดบ่า แนะนำให้นวดจนตัวผู้นวดรู้สึกเบา หรืออาการตึงหรือปวดเมื่อยบริเวณบ่าไหล่เริ่มคลายลง

ต่อกันด้วยท่าที่ 2.ท่านวดท้ายทอย เริ่มจาก 1.ใช้มือซ้ายแตะไว้ที่บริเวณหน้าผาก ส่วนมือขวานั้นวางไว้ที่บริเวณท้ายทอย 2.จากนั้นให้ใช้นิ้วโป้งด้านขวามือ ค่อยๆกดลงที่บริเวณท้ายทอย ในลักษณะของการกดจากข้างล่าง แล้วลากขึ้นด้านบนเบาๆ และแบ่งให้ได้ 3 จุด (ด้านข้าง ตรงกลาง ด้านข้าง หรือกดไล่บริเวณท้ายทอย ด้านขวาสุดไปด้านซ้ายสุดให้ได้ 3 จุด) 3.จากนั้นให้เปลี่ยนสลับมือเพื่อทำอีกข้างหนึ่ง หรือเปลี่ยนใช้มือขวาแตะที่หน้าผาก ส่วนมือซ้ายวางที่ท้ายทอย และใช้นิ้วโป้งด้านซ้ายกดในลักษณะเดิมให้ได้ 3 จุด ทั้งนี้ระยะเวลาที่นวด ให้ทำประมาณ 5-10 รอบต่อข้าง หรือนวดกระทั่งรู้สึกโล่ง หรือหายปวดท้ายทอย

สำหรับท่าที่ 3.ท่านวดขมับ ครูสอนนวดแผนไทยวัดโพธิ์ อธิบายว่า วิธีฝึกท่านี้เริ่มจาก 1.ให้วางมือทั้งสองข้างในลักษณะการประคองขมับทั้ง 2 ด้าน 2.จากนั้นใช้นิ้วโป้งทั้ง 2 ข้าง กดลงข้างล่างและลากขึ้นข้างบน ในลักษณะของการยืดขึ้น หรือที่เรียกว่าการเปิดขมับ ทั้งนี้ให้ทำประมาณ 5-10 รอบ

ไล่มาถึงท่านวดที่ 4.ท่านวดคอ 1.ให้วางมือทั้ง 2 ข้างไว้ที่ท้ายทอย 2.ใช้นิ้วโป้งทั้ง 2 ข้างกดที่บริเวณต้นคอโดยแบ่งกดให้ได้ 3 จุด หรือกดไล่จากด้านข้าง และมาบรรจบที่ตรงกลางต้นคอ โดยกดในลักษณะล่างขึ้นบน ทำซ้ำ 5-10 รอบ

ส่วนท่าที่ 5.ท่านวดเบ้าตา เริ่มจาก 1.ให้ใช้นิ้วโป้งทั้ง 2 ข้างแตะไว้ที่บริเวณขนงคิ้ว หรือหัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง ส่วนนิ้วที่เหลืออีก 4 นิ้วให้กางไว้หลวมๆบริเวณศีรษะ 2.กดนิ้วโป้งเบาๆลงบนขนงคิ้วทั้ง 2 ข้าง ประมาณ 5-10 วินาที (นับในใจ 1-10) 3.ค่อยๆปล่อยมือ โดยแนะนำให้นวดเบ้าตาครั้งละ 5-10 วินาที ประมาณ 5-10 รอบ

ทั้งนี้ นพมาศ แนะนำว่าสามารถนวดเบ้าตาได้อีกวิธี คือ 1.ใช้ 3 นิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) แตะบริเวณขมับทั้ง 2 ข้าง 2.ให้นิ้วโป้งทั้ง 2 ประคองที่บริเวณข้างลำคอ 3.กดคลึงลงบนขมับด้วย 3 นิ้ว พร้อมกับขยับวนออกด้านนอก แนะนำให้ทำประมาณ 5-10 รอบ เพื่อลดอาการตาล้า หรือปวดตาจากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานๆ

“ส่วนข้อจำกัดของท่านวดแก้เมื่อย เพื่อรับมือออฟฟิศซินโดรม หากป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือรู้สึกปวดหัวตุบๆ หรือไปตรวจเช็คกับแพทย์แล้วว่า ขณะนั้นมีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ แนะนำว่าไม่ควรนวดแก้เมื่อย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ หรืออาจทำให้อาการปวดศีรษะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ไม่ควรนวดบริเวณ “ช่วงลำคอ” หรือตั้งแต่ติ่งหูถึงบริเวณไหล่ ซึ่งเป็นจุดเส้นเลือดแดงใหญ่ของร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่อันตราย และทำให้เกิดการบาดเจ็บอื่นๆตามมาได้ รวมถึงบริเวณ “ไหปลาร้า” ที่เป็นแหล่งรวมของเส้นประสาท ที่ไปเลี้ยงบริเวณแขนและขา ดังนั้นหากผู้นวดไม่ได้รับการเรียน และฝึกจากผู้เชี่ยวชาญ ก็ไม่ควรนวดแต่ควรเว้นไว้ก่อนค่ะ” นพมาศ กล่าว

ครูสอนนวดแผนไทย บอกอีกว่า นอกจากนี้หากบริเวณไหล่ ต้นคอ มีอาการอักเสบ เช่น บวม แดง หรือแสบร้อน ก็ไม่ควรนวดด้วยตัวเองหรือนวดที่ร้าน ควรเว้นระยะให้อาการอักเสบดีขึ้นก่อน จึงจะสามารถนวดแก้ปวดเมื่อยได้ หรือหากมีอาการดังกล่าว ก็ควรนวดประคบเย็น หรือ ประคบด้วยน้ำแข็ง ก็จะทำให้อาการอักเสบบวมแดงดีขึ้น

Related Posts

Send this to a friend