HEALTH

แอสตร้าเซนเนก้า ย้ำ มะเร็งเต้านมป้องกันได้ ด้วยการตรวจยีนพันธุกรรม

แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมถึงพันธมิตรชั้นนำ ร่วมจัดกิจกรรม “Rethink Pink We Care” เป็นปีที่ 2 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ตั้งแต่สาเหตุของการเกิดโรค การรักษาโรค การเตรียมความพร้อมก่อนการเกิดโรค ตลอดไปจนถึงการดูแลตนเอง เนื่องในเดือนแห่งการรณรงค์ ต่อต้านโรคมะเร็งเต้านม ณ ศาลาศิริราช 100 ปี โรงพยาบาลศิริราช

ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยในสตรี พร้อมร่วมมือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับความสำคัญของการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น นำเสนอแนวทางการรักษา ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้แก่ประชาชน รวมถึงให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง เพื่อให้อยู่กับโรคมะเร็งได้อย่างไร้กังวล รวมถึงการตรวจยีนพันธุกรรม เพื่อให้รู้ก่อน และนำมาสู่การป้องกันมะเร็งเต้านมได้

นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ด้วยโรคมะเร็งในสตรี แอสตร้าเซนเนก้า มีเป้าหมายที่จะยกระดับ การดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผ่านการนำข้อมูล เทคโนโลยี นวัตกรรม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ มาต่อยอดการดูแลรักษาผู้ป่วย สำหรับประเทศไทย เราได้ทำงานร่วมกับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ในการสนับสนุนและส่งเสริม การให้ความรู้ แนวทางการวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พร้อมทั้งออกแบบช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้ทุกคนได้รับคำปรึกษาที่ถูกต้อง จากผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ ที่จะช่วยดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

สำหรับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช (Siriraj Genomics) เป็นหน่วยงานสำคัญ ในการวิจัยและถอดรหัสพันธุกรรมภายใต้โครงการ จีโนมิกส์ ประเทศไทย (Genomics Thailand) และทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ในการบูรณาการเทคโนโลยีจีโนม เข้ากับการวิจัยและบริการทางคลินิก และส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) และ การรักษาแบบแม่นยำ (Precision Medicine) ในโรงพยาบาลศิริราช โดยมีเป้าหมายในการรักษาผู้ป่วยอย่างตรงจุด ผ่านการประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรม ร่วมกับข้อมูลสุขภาพ เพื่อการวิเคราะห์ การวินิจฉัย และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ลดการเจ็บป่วย และป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “การทำความเข้าใจมะเร็ง และการกลายพันธุ์ของยีน (gene) บีอาร์ซีเอ (BRCA) มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน และเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยหนึ่งในนั้นอาจเกิดจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ซึ่งการระบุการกลายพันธุ์ของยีน อย่างเฉพาะเจาะจงจะทำให้แพทย์สามารถปรับกลยุทธ์ การรักษาให้เหมาะสม เนื่องจากยีนทุกตัวตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกัน ดังนั้นการทดสอบทางพันธุกรรม ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับผลตรวจที่แม่นยำเท่านั้น แต่ยังปูทางไปสู่การวินิจฉัย และการรักษาเฉพาะบุคคล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มากขึ้นอีกด้วย”

ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีญาติสายตรง ที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ ของยีนโรคมะเร็งเต้านม บีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) และ บีอาร์ซีเอ 2 (BRCA2) ได้ทุกสิทธิ์การรักษา ซึ่งหากผลการตรวจคัดกรองพบว่ามีการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม ญาติสายตรงซึ่งได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือ บุตร ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จะได้รับการติดตามให้มาตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ของยีน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง และป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ให้กับญาติสายตรงต่อไป

สำหรับภายในกิจกรรม “Rethink Pink We Care” ครั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำ โครงการ และสถาบันเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากมาย อาทิ บริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทย จำกัด ในการร่วมแนะนำแบบฟอร์ม ประเมินความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งพันธุกรรมด้วยตัวเอง พร้อมกันนี้ อัจฉรา สัมฤทธิวณิชชา ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ผ่านมุมมองของผู้ป่วยโรคมะเร็ง รวมถึง ธนาคารทิสโก้ ให้ข้อมูลในการวางแผนการเงิน เมื่อพบเจอกับโรคร้าย และ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูล เกี่ยวกับความสำคัญในการดูแลผิวหนังในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น

Related Posts

Send this to a friend