HEALTH

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ป้องกันเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แนะใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวก ปลอดภัย โดยสามารถติดต่อขอรับถุงยางอนามัยได้ฟรีที่สถานบริการสุขภาพทั่วประเทศ

โรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการที่ประชาชนมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ มีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคนหรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ ไม่ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มและอุปกรณ์ฉีดยาร่วมกัน หรือการกินยาต้านไวรัสก่อนสัมผัสเชื้อหรือยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่สม่ำเสมอ

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยงหลัก ปี 2563 พบว่า 3 อันดับที่พบความชุกของการติดเชื้อมากที่สุด คือ ผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีด ร้อยละ 7.8 รองลงมาเป็นกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายร้อยละ 7.3 และสาวประเภทสองหรือผู้หญิงข้ามเพศ ร้อยละ 4.2 ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน ในปี 2562 จากข้อมูลการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรทั่วไป ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกปี พบว่า ความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีลดลง เหลือไม่ถึงร้อยละ 1 เช่น หญิงที่มาฝากครรภ์ เหลือร้อยละ 0.54 ในกลุ่มผู้ที่มาบริจาคเลือด เหลือร้อยละ 0.06 และในชายที่ได้รับคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการ เหลือร้อยละ 0.7 ซึ่งนับว่าเป็นทิศทางที่ดี

ในปี 2563 อัตราการป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลักในทุกกลุ่มอายุ (ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง) อยู่ที่ 33.6 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งพบการติดเชื้อซิฟิลิส สูงสุดถึง 16.4 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ หนองใน 11.9 ต่อประชากรแสนคน และหนองในเทียม 3.1 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งหลายๆ คนมักมองข้ามการป้องกันด้วยวิธีดังกล่าว แต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ง่ายในการติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส หนองใน ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น และการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมอีกด้วย อย่างไรก็ตามความเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และไม่จำเพาะเจาะจงกับความเป็นกลุ่มประชากร หรือเพศภาวะ

สำหรับวิธีการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ โดยการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งทางเลือกอื่น คือ การใช้ยาสม่ำเสมอ เช่น ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Phophylaxis หรือ PrEP) การใช้ยาป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Post-Exposure Phophylaxis หรือ PEP) เป็นต้น เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อเอชไอวี

นอกจากนี้ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขยังเน้นย้ำมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ การลดพฤติกรรมเสี่ยง การใช้เข็มฉีดยาและอุปกรณ์ที่สะอาด สนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวก ปลอดภัย สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งไวรัสตับอักเสบบีได้มากที่สุด ซึ่งสามารถขอรับได้ฟรี ที่สถานบริการสุขภาพทั่วประเทศ รวมทั้ง การกินยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ (PrEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี สามารถขอรับยาฟรีได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมทั่วประเทศ หรือค้นหาได้ที่เว็บไซต์

Related Posts

Send this to a friend