ภาวะทารกคลอดก่อนกำหนด ดูแลทารกกลุ่มเสี่ยงอย่างไรให้ปลอดภัย เพื่อพัฒนาการที่สมวัย
แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค เผย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าภาวะคลอดก่อนกำหนด เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก โดยภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ และพัฒนาการของทารก เนื่องจากอวัยวะและระบบการทำงาน ของร่างกายอาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เด็กกลุ่มนี้ จึงเปราะบางและเสี่ยง ต่อการเกิดโรครุนแรง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่า เช่น ภาวะหายใจลำบาก ภาวะเลือดออกในสมอง ภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ
หรือการติดเชื้อก่อโรคต่างๆ ได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เช่น เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นไวรัสตามฤดูกาลที่แพร่ระบาด ในกว่า 90% ของเด็กช่วงวัยสองปีแรก และไวรัสชนิดนี้มีส่วนทำให้เกิด การติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันมากกว่า 60% ในเด็ก แม้อาการส่วนใหญ่ของ RSV จะไม่รุนแรง ลักษณะคล้ายหวัดทั่วไป มีไข้ ไอ และคัดจมูก แต่สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด ไวรัส RSV ถือเป็นหนึ่งในไวรัสตัวร้ายที่น่ากังวล เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดอาการรุนแรง และภาวะแทรกซ้อน ได้มากกว่าหากได้รับเชื้อดังกล่าว
ประกอบกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 17 พฤศจิกายน เป็นวันทารกคลอดก่อนกำหนดโลก หรือ ‘World Prematurity Day’ แอสตร้าเซนเนก้า จึงได้รวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับการดูแลเด็กที่อยู่ในภาวะดังกล่าว เพื่อเผยแพร่ไปในวงกว้าง ทั้งนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อแม่และผู้ปกครอง ได้ตระหนักรู้และมีความเข้าใจเกี่ยว กับภาวะคลอดก่อนกำหนด และสามารถเตรียมพร้อมรับมือ ในการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด ให้เติบโตอย่างปลอดภัย มีพัฒนาการสมวัย และมีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์
สำหรับการคลอดก่อนกำหนด คือภาวะที่เด็กเกิดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ (หรือประมาณ 8 เดือน) โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการว่ามีทารกถึง 13.4 ล้านคนทั่วโลก ที่เกิดก่อนกำหนดในปี 2020 และสำหรับประเทศไทย พบอุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนด เฉลี่ยประมาณ 8-12% หรือราว 80,000 รายต่อปี
ภาวะคลอดก่อนกำหนดมีโอกาสเกิดขึ้น ได้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน และมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป แต่ปัจจัยบางประการ อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูง ต่อการเกิดภาวะดังกล่าว เช่น ผู้เป็นแม่เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด การตั้งครรภ์แฝด (แฝดคู่ แฝดสาม ฯลฯ) หรือความเสี่ยงจากโรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน ไปจนถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ จากการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะหรือเยื่อหุ้มรก หรือจากภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อน การเจ็บครรภ์ เป็นต้น
รายงานขององค์การอนามัยโลก ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การคลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป โดยพบข้อมูลทารกคลอดก่อนกำหนด มากกว่า 1 ใน 10 คนเป็นประจำทุกปี และหลายคนยังมีความเข้าใจหรือความเชื่อ ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการคลอดก่อนกำหนดอยู่ เช่น มีการตีพิมพ์รายงานที่ระบุว่า “แม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ในเดือนพฤษภาคม จะมีแนวโน้มการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าถึง 10%” ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่พบความสัมพันธ์ หรือความเชื่อมโยงระหว่างช่วงเวลา ที่เกิดการปฏิสนธิ กับภาวะคลอดก่อนกำหนดแต่อย่างใด
อีกทั้งยังพบความเชื่อที่สนับสนุน การคลอดก่อนกำหนด สะท้อนจากสถิติคำค้นหาที่พบมากที่สุดคำถามหนึ่งเกี่ยวกับภาวะคลอดก่อนกำหนดว่า “ทำไมการคลอดลูกที่อายุครรภ์ 7 เดือน ถึงดีกว่าตอน 8 เดือน?” ซึ่งล้วนเป็นความเข้าใจที่ผิด และส่งผลกระทบต่อทารกโดยตรง เพราะตามหลักการแพทย์แล้ว ยิ่งทารกเกิดเร็วกว่ากำหนดเท่าไร ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน ก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการมีอายุครรภ์ที่ครบกำหนด หรือใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่งหมายถึงการมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป คืออายุครรภ์ที่ปลอดภัย และดีกับทารกมากที่สุด
นอกจากนี้หลายคนอาจเข้าใจว่า การคลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะที่ร้ายแรง แต่ที่จริงแล้วมีเด็กคลอดก่อนกำหนด อีกจำนวนมากที่สามารถเติบโต และพัฒนาร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ดังนั้นเพื่อขจัดความสับสน และหลีกเลี่ยงชุดข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ผู้ปกครองที่มีคำถามหรือข้อกังวล ควรขอคำแนะนำจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น การปรึกษากุมารแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง
สำหรับการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด
แม้จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่ทารกคลอดก่อนกำหนดหลายคน สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่เปราะบาง และเติบโตขึ้นได้อย่างปลอดภัย หากได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนี้
1.ปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำ ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระหว่างที่ทารกอยู่ในช่วงวัยที่ร่างกายกำลังพัฒนา ทั้งขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล หรือเมื่อได้กลับบ้านแล้ว ผู้ปกครองต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด คอยสังเกตและรายงานความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือหากพบความผิดปกติใดๆ ต้องรีบแจ้งแพทย์โดยทันที
2.เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการดูแลและเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กที่คลอดก่อนกำหนด โดยถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เนื่องจากมีความปลอดภัย ปลอดเชื้อ และอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น ต่อการพัฒนาร่างกายและอวัยวะที่สำคัญ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และป้องกันอาการป่วยจากโรคต่างๆ ที่พบบ่อยในเด็ก ดังนั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากแพทย์แล้ว ควรพยายามให้นมแม่กับลูก ไม่ว่าจะด้วยวิธีธรรมชาติ หรือผ่านขวดนม ทั้งนี้หากหลังคลอดแล้วน้ำนมยังไม่มา หรือมีปริมาณไม่เพียงพอ ธนาคารนมแม่อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด หรือสามารถใช้นมผงสูตร สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับทารกได้เช่นกัน
3.ระมัดระวังการติดเชื้อ หนึ่งในผลกระทบที่น่ากังวลของเด็กกลุ่มนี้ คือ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ปกครองจึงต้องให้ความสำคัญ กับการปกป้องทารกจากเชื้อก่อโรคต่างๆ รวมถึงไวรัสอย่าง RSV อย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถป้องกันได้ ด้วยการล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสลูก รักษาความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้ หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด รวมถึงการให้ลูกเข้ารับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันตามแนวทาง และคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
4.เตรียมพร้อมต้อนรับลูกน้อย กลับบ้านด้วยพลังบวก แม้ลูกน้อยจะยังต้องอยู่ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด ในหอผู้ป่วยวิกฤตทารกแรกเกิด หรือ NICU (Neonatal Intensive Care Unit) แต่เมื่อได้รับอนุญาตจากทีมแพทย์ให้เข้าเยี่ยมแล้ว ควรใช้เวลาอยู่กับลูกให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความผูกพันและดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และครอบครัวควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และพยายามทำความเข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติที่ทารกกลุ่มนี้จำเป็น ต้องใช้เวลาอยู่ที่โรงพยาบาล นานกว่าคนอื่นๆ นอกจากนี้ครอบครัวและตัวคุณแม่เอง สามารถค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ศึกษาวิธีการดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด การเสริมสร้างพัฒนาการ รวมถึงแนวทางการรักษาที่อาจจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดูแลลูกน้อย
แม้จะเกิดมาพร้อมกับความเสี่ยง และต้องเผชิญกับความยากลำบากตั้งแต่วินาทีแรก แต่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหลายคน ได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาสามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น และเติบโตขึ้นอย่างปลอดภัย แข็งแรง พร้อมพัฒนาการที่สมวัยได้ ด้วยความรักและการดูแลเอาใจใส่ ที่เหมาะสมจากครอบครัว