HEALTH

กรมอนามัย ร่วมมือ ภาคีเครือข่าย ยกระดับสาธารณสุขไทย หยุดโรคอ้วนในเด็ก

วันนี้ (13 ก.ย. 66) ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมอภิปรายเรื่อง National Agenda to Stop Childhood Obesity : วาระแห่งชาติเพื่อหยุดโรคอ้วนในเด็ก ในมหกรรมการจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน” (Enhancing Public Health for sustainable well-being for Thais) ทั้งนี้เพื่อเร่งขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสุขภาพที่ดีและส่งเสริมสวัสดิภาพ สำหรับทุกคนในทุกวัย

โดยร่วมกับ Dr.Olivia Nieveras แพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย พร้อมด้วย นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ , นายพนัส บุญวัฒนสุนทร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมี ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ณ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า มลฑาทิพย์ ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี

ดร.นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า กรมอนามัยเร่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เพื่อหยุดโรคอ้วนในเด็ก เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิต ที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพ สำหรับทุกคนในทุกวัย มุ่งลดการตายก่อนวัยอันควร จากโรคไม่ติดต่อในปี 2030 (เป้าหมาย 3.4) กรมอนามัยชี้ข้อมูลเด็กน้ำหนักเกิน และอ้วนเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าใน 20 ปี ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งมาจากพฤติกรรมการกิน คือ 1 ใน 3 ของเด็กดื่มน้ำอัดลม อาหารฟาสฟู๊ดเป็นประจำ และกินผักผลไม้ กินมื้อเช้าลดลง

ประกอบกับมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น มาตรการสำคัญคือ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เริ่มจากเด็กเป็นศูนย์กลาง มีความรู้เข้าใจอาหาร การออกกำลังกาย สุขภาพตนเอง มีครอบครัว ชุมชน ช่วยสนับสนุนเสริม ตลอดจนมีกลไกการขับเคลื่อน สภาพแวดล้อมรอบตัวให้เอื้อ ต่อการมีสุขภาพที่ดี และทุกภาคส่วนจะต้องร่วมจัดการไปด้วยกัน ไม่เพียงแต่ภาคสาธารณสุข ยังมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน

ด้าน นายแพทย์อัครฐาน กล่าวว่า กรมการแพทย์แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มเด็กอ้วนที่ระดับรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น พบเด็กอ้วนที่มีภาวะแทรกซ้อนเช่น โรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจอุดกลั้น โรคกระดูกและข้อ ส่งผลถึงการใช้ทรัพยากรในการรักษาสูงขึ้นอย่างมาก การจัดการสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมให้เด็กและครอบครัว มีความรอบรู้สุขภาพเป็นสิ่งที่ยังท้าทาย และถือว่าเป็นมาตรการที่คุ้มค่ากว่าการรักษาโรคอ้วนอย่างแน่นอน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) การดูแล ส่งต่อ ในสถานบริการสาธารณสุขแต่ละระดับ (Service delivery by level of care)

ขณะที่ นายพนัส กล่าวว่า ส่วนภาคการศึกษามีมาตรการส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังการเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการ รวมถึงการจัดการโรคอ้วนในโรงเรียน ที่ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ ผ่านหลักสูตรสาระสุขศึกษา และพลศึกษา โครงการนักเรียนไทยสุขภาพดี โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ

Dr.Olivia กล่าวว่า “ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำโรคอ้วนในเด็ก เป็นปัญหาเร่งด่วนระดับโลก เพราะเด็กอ้วนจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง โดยในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 (WHA75) 2022 ได้ออกคำแนะนำแผน ในการหยุดโรคอ้วน กระตุ้น (WHO acceleration plan to stop obesity) และเป็นแนวทางการจัดการโรคอ้วน ให้แต่ละประเทศดำเนินการ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 28 ประเทศแถวหน้า ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้อย่างดี และดำเนินการนำหน้าหลายๆประเทศ ซึ่งมีการดำเนินมาตรการที่มีหลักฐานว่า เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เช่น ภาษีน้ำตาล โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ นโยบายการดูแลส่งเสริมอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และโภชนาการในโรงเรียน และ (ร่าง) พ.ร.บ. การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลต่อกระทบต่อสุขภาพเด็ก”

Related Posts

Send this to a friend