กรมการแพทย์ เตือน ‘โนโรไวรัส’ พบบ่อยในเด็ก แพร่กระจายได้เร็ว
![](https://www.thereporters.co/wp-content/uploads/2024/12/CoverN-Dec24_149.jpg)
กรมการแพทย์ เตือน ‘โนโรไวรัส’ พบบ่อยในเด็ก แพร่กระจายได้เร็ว แนะ ดูแลสุขภาพอนามัยเด็ก หมั่นล้างมือให้สะอาด รับประทานอาหารปรุงสุก ลดการอักเสบติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการเเพทย์ เปิดเผยว่า โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร พบได้บ่อยในเด็ก สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วแม้ได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี หลังจากได้รับเชื้อ มักจะมีอาการภายใน 12-48 ชั่วโมง อาการที่พบบ่อย คือ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีภาวะขาดน้ำที่อาจเกิดในผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-3 วัน
สถานการณ์ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบมีจำนวนมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยนอก มีจำนวนไม่มากที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อมีราคาค่อนข้างสูง จึงไม่ได้ส่งตรวจในผู้ป่วยทุกราย ยกเว้นในรายที่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจาย เพื่อใช้ในการแยกโรคเป็นหลัก
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่เป็นการดูแลตามอาการ ส่วนใหญ่จะดีขึ้นใน 3-4 วัน ในรายที่อาการไม่รุนแรงให้ดื่มน้ำเกลือแร่ กรณีที่อาเจียนและท้องเสีย ให้ทานอาหารอ่อน ๆ ร่วมกับยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ตามอาการ ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ ส่งผลให้เกิดภาวะทำให้ช็อค ความดันโลหิตต่ำ พิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
วิธีการป้องกันในสถานศึกษาหรือในศูนย์เด็กเล็ก ให้หมั่นรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ทำความสะอาดพื้นหรือสิ่งแวดล้อม หรือจุดเสี่ยงที่คาดไม่ถึง ที่สัมผัสในชีวิตประจำวัน – ปุ่มลิฟต์ ลูกบิดประตู แท็บเล็ตหรือโทรศัพท์ที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อได้หลายวัน ทั้งนี้ เชื้อไวรัสไม่มีเปลือกหุ้ม และมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อการฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ การล้างมือบ่อย ๆ จึงสำคัญ กรณีที่มีเด็กป่วยให้แยกตัวรักษาอาการที่บ้านเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพามาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป