โฆษก เผย นายกฯ ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด
สั่งการทุกหน่วยงานร่วมกันป้องกันและควบคุมอย่างเข้มงวด มั่นใจในการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเผยความคืบหน้าการหาวัคซีนฯ คาดเข้าไทยปลายเดือนสิงหาคมนี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโรคฝีดาษวานร โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษไปแล้ว และคาดว่าจะสามารถนำเข้ามาได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2565 ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด และสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องกันและควบคุมโรคฝีดาษวานรไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง แม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรง แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและรอบคอบ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนฯ แล้ว แต่ยังคงต้องติดตามข้อมูลผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้จริงในประชากร โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มที่จำเป็น เช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนฯ เบื้องต้น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-exposure) ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ และ 2.กลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วัน (Post-exposure) ซึ่งหากฉีดเร็วจะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยข้อมูลอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษวานร (RO) ซึ่งกรณีฝีดาษลิง 2022 มีค่า RO ประมาณ 1 – 2 ซึ่งหมายความว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษวานรสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้เพียง 1-2 คน ทำให้คาดคะเนว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคฝีดาษวานรได้ไม่ยาก เมื่อเทียบกับค่า RO ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย Omicron BA.1 มีค่า RO อยู่ที่ 8.2 และ Omicron BA.2 อยู่ที่ 12
สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร จำนวน 4 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย และชาวไทย 2 ราย โดยจากการเฝ้าระวังติดตามอาการพบว่าอาการป่วยไม่รุนแรง แม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่โรคนี้สามารถหายได้เองในระยะ 2 – 4 สัปดาห์ โดยให้ยารักษาตามอาการ และไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ความเสี่ยงที่จะติดโรคนั้น ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสรอยโรคผิวหนัง หรือสัมผัสใกล้ชิดมาก ๆ กับผู้ป่วย
“นายกรัฐมนตรีห่วงใยสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเน้นย้ำการป้องกันตนเอง โดยการปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อย ๆ และหากสงสัยว่ามีอาการเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 รวมทั้งติดตามข่าวสารจากหน่วยงานรัฐ และแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ” นายธนกรฯ กล่าว