HEALTH

กรมวิทย์ฯ สุ่มตรวจอาหารเจ พบ DNA เนื้อสัตว์ ปนเปื้อน และสารเคมีตกค้างในผักผลไม้

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจ ปี 2564 ใน 3 กลุ่ม คือ อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ อาหารประเภทเส้น และผักผลไม้สดจากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยสุ่มตรวจ 93 ตัวอย่าง พบว่า

กลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ เช่น เป็ดเจ หมูสามชั้นเจ ลูกชิ้น ปลาเค็ม ไส้กรอก จำนวน 57 ตัวอย่าง มีดีเอ็นเอของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน 10 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 17.5

กลุ่มอาหารประเภทเส้น เช่น วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ จำนวน 15 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบกรดซอร์บิก ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารประเภทนี้ แต่ตรวจพบกรดเบนโซอิกจำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 60 ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 304 – 855 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ไม่มีตัวอย่างใดเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เป็นวัตถุกันเสียที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ มีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณสูงมาก อาจทำให้เกิดอันตรายได้สำหรับผู้แพ้สารนี้ เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย

กลุ่มผักและผลไม้สด เช่น คะน้า ขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว แครอท มะเขือเทศ ส้ม แอปเปิ้ล มันญี่ปุ่น จำนวน 21 ตัวอย่าง ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในส้มและแอปเปิ้ล จำนวน 5 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 23.8

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำว่า การกินเจเพื่อให้มีสุขภาพดี ควรรับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ หลากหลายชนิด ปรุงสุกใหม่ ไม่ควรซื้ออาหารมาเก็บไว้นานเกินไป ส่วนอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคหรือผู้ปรุงควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่เชื่อถือได้ มีฉลากระบุสถานที่ผลิต วันเดือนปี และเครื่องหมาย อย. หรือเลขสารระบบอาหารที่ชัดเจน เพราะหากแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐาน อาจมีส่วนประกอบของไข่ นม หรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อนได้

Related Posts

Send this to a friend