ไข้เลือดออกบุกอีสานล่าง หนักส่วนที่สุรินทร์ ช่วง 7 เดือนพบผู้ป่วยกว่า 200 ราย
(8 ส.ค. 65) สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2565 ว่า ในพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ช่วงวันที่ 1 มกราคม 2565 – 23 กรกฎาคม 2565 พบผู้ป่วยแล้ว 536 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 7.99 ต่อประชากรแสนคน แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ขณะที่จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สูงสุดที่จังหวัดสุรินทร์ 248 ราย คิดเป็นอัตรา 18.02 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือจังหวัดนครราชสีมา 192 ราย คิดเป็นอัตรา 7.29 ต่อประชากรแสนคน ตามด้วยจังหวัดชัยภูมิ 81 ราย คิดเป็น 7.22 ต่อประชากรแสนคน และจังหวัดบุรีรัมย์ 15 ราย คิดเป็น 0.95 ต่อประชากรแสนคน
สำหรับช่วงนี้ มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ จึงขอแนะนำประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง ด้วยมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) และขอความร่วมมือประชาชน ร่วมกันจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ด้วยการเก็บบ้านให้สะอาด เก็บน้ำ และเก็บขยะภายในบริเวณบ้านและโรงเรียนให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูงลอย รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลด หรือไข้ลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน และหากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออกกับโรคโควิด -19 ทำให้อาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว เมื่อมีอาการสงสัยดังกล่าว จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ป้องกันการเสียชีวิต