HEALTH

ศิริราช พัฒนาโครงการบางกอกน้อยโมเดล 2 เน้นบูรณาการระบบสุขภาพเชิงรุกเข้าถึงชุมชน ผ่าน 8 โครงการหลัก

วันนี้ (8 มิ.ย.66) ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแถลงข่าว “ศิริราชรุกเข้าถึงชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างยั่งยืน ในโครงการบางกอกน้อยโมเดล 2” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (SiMR) รพ.ศิริราช

ทั้งนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เตรียมความพร้อมเชิงระบบ ในพื้นที่ชุมชนกึ่งเมือง เพื่อเป็นต้นแบบเมืองสุขภาพดี (Healthy City) ชุมชนสุขภาพดี (Healthy Community) โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่บางกอกน้อย จากการดำเนินงาน โครงการบางกอกน้อยโมเดล ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลา 8 ปี จึงนำมาสู่การพัฒนาเฟสถัดมา “โครงการบางกอกน้อยโมเดล 2” บูรณาการระบบสุขภาพเชิงรุกให้สอดคล้อง กับนโยบายของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เน้นการเตรียมความพร้อมด้านเปลี่ยนแปลงสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลตามช่วงวัย สะท้อนปัญหาที่เกี่ยวข้อง แก้ไขเชิงระบบจากต้นเหตุ ในการขับเคลื่อนงาน เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน ผ่าน 8 โครงการหลัก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “สังคมปัจจุบันมีความตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพของประชาชน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เร่งดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจหลัก ในส่วนของการจัดการศึกษา การฝึกอบรม การวิจัย การบริการทางการแพทย์ มุ่งหวังที่จะขับเคลื่อน และเชื่อมโยงกลไกการบริหารต่างๆในระบบสุขภาพ รวมถึงพัฒนาระบบให้สอดคล้อง กับความหลากหลายทั้งเชิงกลไก และบริบทของพื้นที่ เพื่อการวางแผนการใช้ประโยชน์ เชิงยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างโมเดลชุมชนสุขภาพดี โดยเริ่มจากพื้นที่ชุมชน โดยรอบโรงพยาบาลศิริราช นั่นคือชุมชนเขตบางกอกน้อย ซึ่งได้มีการพัฒนาระบบ ฐานข้อมูลสุขภาพของชุมชน เพื่อนำไปออกแบบการแก้ไขปัญหาสุขภาพให้เหมาะสมกับชุมชน พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือ สำหรับพัฒนากิจกรรม โครงการ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่ตอบสนองต่อการสร้างระบบสุขภาพของประชาชน”

ด้าน นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน การพัฒนาระบบสุขภาพ สสส.กล่าวว่า “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สามารถมีศักยภาพในการช่วยสนับสนุนกระบวนสร้างสุขภาพ และสุขภาวะของชุมชน บางกอกน้อยในมิติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมทางสุขภาพในชุมชนเมือง ที่ครอบคลุมมิติด้านสุขภาพ สังคม ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร สามารถส่งมอบสุขภาวะและคุณภาพชีวิตให้กับสังคมต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น สสส.จึงให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว ภายใต้พันธกิจ “จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดจำกัดความสามารถ และสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะ”

การจัดการระบบสุขภาพชุมชนบางกอกน้อย ดำเนินงานผ่านโครงการทั้งหมด 8 โครงการ ได้แก่

1.โครงการพัฒนาต้นแบบ ด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชนกึ่งเมือง สร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เกิดการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนรถพยาบาลมาถึง เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตแก่ผู้ป่วย

2.โครงการรูปแบบระบบการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศ โดยชุมชนในบางกอกน้อยโมเดล พัฒนาระบบการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศ พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติในแต่ละวัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ

3.โครงการบางกอกน้อยปลอดภัยไร้โรคอ้วน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ประชาชนห่างไกลจากโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) อย่างยั่งยืน

4.โครงการพัฒนาการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยชุมชนอย่างยั่งยืน ให้บริการเชิงรุกด้วยหลักการของการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชน (Community-based Rehabilitation) ประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา สังคม และการเสริมพลัง พร้อมทั้งอบรมวิทยากรชุมชน เพื่อดูแลคนในชุมชนของตนเอง

5.โครงการการพัฒนาต้นแบบการจัดการเรียนรู้ เพศวิถีและการให้การปรึกษาทางเพศ ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร อาศัยความร่วมมือของวัยรุ่น ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารโรงเรียน สำหรับการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษา ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ป้องกันปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ความรุนแรงด้านเพศสภาวะ และความไม่เท่าเทียม

6.โครงการการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในชุมชน โดยการเรียนรู้ทางแอปพลิเคชัน ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลที่นำไปสู่ การปรับปรุงพฤติกรรมดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น

7.โครงการแกนนำเฝ้าระวังเบาหวาน และความดันโลหิตสูงในชุมชนเมืองวิถีใหม่ อบรมเชิงปฏิบัติการให้มีทักษะ การตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว การใช้เครื่องวัดความดันโลหิต และสามารถแปลผลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง เสริมสร้างศักยภาพของชุมชน ในการตรวจคัดกรองเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้ด้วยชุมชนเอง

8.โครงการต้นแบบการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ในศูนย์เด็กเล็กชุมชนบางกอกน้อย ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ร่วมจัดทำโปรแกรมกิจกรรมเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการช่วยเหลือตนเองที่ไม่ซับซ้อน

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เกิดการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกับชุมชน โดยรูปแบบร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน พร้อมทั้งผนวกการบูรณาการสหสาขาวิชาชีพขับเคลื่อนสู่การเรียนรู้กลุ่มเป้าหมาย ก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ส่งผลให้เกิดโครงการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหา ได้อย่างครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ นอกจากนี้ ชุมชนได้เรียนรู้การทำงาน ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เปิดโอกาสให้พัฒนาศักยภาพ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริม และดูแลสุขภาพได้ด้วยชุมชนเอง โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ

Related Posts

Send this to a friend