BANGKOK

กทม.เร่งสำรวจต้นไม้ใหญ่ที่มีความเสี่ยง ป้องกันปัญหาล้มโค่น เตรียมติดตั้งกล้อง ตรวจจับปรับรถวิ่งบนทางเท้า 8 จุด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยวานนี้ (7 มิ.ย. 66) กทม.เร่งสำรวจต้นไม้ใหญ่ที่มีความเสี่ยง ป้องกันปัญหาล้มโค่น เนื่องจากวันที่ 6 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา พบกรณีต้นไม้ล้มในพื้นที่เขตปทุมวัน ขณะนี้ต้องทำการตรวจสอบต้นไม้ที่เหลืออยู่ ทั้งนี้จากข้อมูลเดิมในพื้นที่กรุงเทพฯ มีต้นไม้ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านต้น ทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ริมถนนที่สำนักงานเขตดูแล และในสวนสาธารณะที่สำนักสิ่งแวดล้อมดูแล ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือจากรุกขกร ภายใต้สมาคมรุกขกร ในการตรวจสอบต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่กทม.ประมาณ 40,000 ต้น เพื่อเป็นฐานข้อมูล ในการสำรวจความเสี่ยง และป้องกันต้นไม้โค่นล้ม พร้อมกันนี้กทม.เตรียมติดตั้ง กล้องตรวจจับปรับรถบนทางเท้า 8 จุด

นายชัชชาติ กล่าวว่า “จากข้อมูลเดิมในพื้นที่กรุงเทพฯ มีต้นไม้ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านต้น ทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ริมถนนที่สำนักงานเขตดูแลและในสวนสาธารณะที่สำนักสิ่งแวดล้อมดูแล ปัจจุบันกรุงเทพมหานครไม่มีรุกขกร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ที่แท้จริง แนวทางหนึ่งคือการมีรุกขกรประจำเขต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมรุกขกร จากเหตุต้นไม้ล้มที่เขตปทุมวัน ขณะนี้ต้องทำการตรวจสอบต้นไม้ที่เหลืออยู่ โดยจะขอความร่วมมือ จากสมาคมรุกขกรในการดำเนินการ และในปี 2567 จะมีการขอจัดสรรงบประมาณตรวจสอบ ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 40,000 ต้น เพื่อเป็นฐานข้อมูล และจะทำ 2 เรื่องขนานกันไป”

“เรื่องแรก คือ สำรวจต้นไม้ที่มีความเสี่ยงในพื้นที่เขตก่อน โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินการ และให้คนที่มีความเชี่ยวชาญ ไปตรวจสอบสภาพรากว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากต้นไม้ล้มเมื่อวานก็เกิดจากรากเปื่อย พอพายุมาก็โค่น จึงต้องทำดาต้าเบสให้ชัดหาก ต้องมีการค้ำยันต้นไม้ก็ทำ อีกเรื่องคือการเสริมสร้างบุคลากร มีการอบรมรุกขกรเพื่อให้มีประจำทุกเขต สำหรับการตรวจสอบความแข็งแรงของต้นไม้นั้น ผู้เชี่ยวชาญจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจ แต่หากมีความจำเป็นกรุงเทพมหานครก็อาจต้องเตรียมไว้ นอกจากนี้ในการปลูกต้นไม้ ก็ต้องเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมและมีการดูแลต้นไม้เก่าให้ดีด้วย”

“ส่วนปัญหามอเตอร์ไซต์บนทางเท้านั้น ปัจจุบันเขตจะมีการจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ออกตรวจพื้นที่อยู่แล้ว แต่การให้เทศกิจไปเดินจับคนขี่มอเตอร์ไซต์บนทางเท้า อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้เต็มที่ ซึ่งทั้ง 50 เขต มีจุดหลักประมาณ 77 จุด นอกจากเทศกิจลงพื้นที่ตรวจแล้ว ก็จะมีการติดตั้งกล้องช่วยในการจับปรับผู้กระทำผิดด้วย เบื้องต้นจะติดตั้งกล้อง 8 จุดก่อน โดยกล้องสามารถตรวจจับและอ่านทะเบียนรถได้เลย สามารถนำมาปรับได้เลย เพราะเทศกิจมีอำนาจในการปรับรถขับขี่บนทางเท้า ซึ่งอัตราสูงสุดจะอยู่ที่ 5,000 บาท แต่ตอนนี้ปรับอยู่ 2,000 บาท จริงๆไม่ได้อยากได้เงินค่าปรับ เพราะรู้ว่าทุกคนก็เดือดร้อน แต่อยากให้ทางเท้าเป็นทางเท้าจริงๆ หัวใจคือความมีระเบียบและวินัย ถ้าให้มีการทำผิดซ้ำๆ ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นได้”

นอกจากนี้จะขอความร่วมมือไปยังบริษัทส่งอาหาร หรือสิ่งของให้กำชับพนักงานหรือไรด์เดอร์ รวมถึงมีการอบรม หรือมีมาตรการแจ้งพนักงานเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามขณะเดียวกันก็มีปัญหาที่ต้องคิด คือ การก่อสร้างที่มีการปิดถนนยาวๆ ทำให้รถจักรยานยนต์ไปกลับรถไกล มีทางไหนที่จะทำให้สะดวกขึ้นไหม เช่น การเปิดช่องให้กลับรถไม่ไกล

ส่วนกรณีวินมอเตอร์ไซต์บนฟุตบาท ที่ได้รับอนุญาตมานานแล้วนั้น ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าจุด ก็ต้องดูว่าจะเอาออกจากฟุตบาทไปอยู่ที่ไหนได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องต้นขอให้ไม่ขับบนฟุตบาท ให้จูงรถลงมาจากฟุตบาทและขึ้นข้างล่าง ช่วยทำให้ผู้ใช้ทางเท้าได้รับความปลอดภัยมากขึ้น

Related Posts

Send this to a friend