HEALTH

เมื่อโรคอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน เป็นวิกฤตที่ทั่วโลกต้องร่วมกันแก้ไข

วันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) กำหนดให้เป็นวันโลกอ้วน เพื่อให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงปัญหาของภาวะน้ำหนักเกินที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กทั่วโลกต่างต้องเผชิญ โดยแต่ละปีจะจัดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน รวมถึงคนทุกกลุ่มเข้าใจ และมีส่วนร่วมต่อการผลักดันการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโรคอ้วน (obesity) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้นิยามว่า เป็นภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งมาจากการสะสมของไขมันที่ผิดปกติหรือมีมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยคำว่าภาวะน้ำหนักเกินในที่นี้วัดจากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ซึ่งหากมีค่ามากกว่า 25 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน (overweight) ขณะที่หากมีค่ามากกว่า 30 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์อ้วน

ข้อมูลจาก WHO ยังเปิดเผยว่า เมื่อปี 2565 มีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวนกว่า 37 ล้านคน รวมถึงเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุ 5-19 ปี จำนวนกว่า 390 ล้านคน เผชิญกับภาวะน้ำหนักเกิน (overweight) นอกจากนี้ อีกกว่า 160 ล้านคนทั่วโลกที่เผชิญกับภาวะโรคอ้วน พบว่ากว่า 75% อยู่ในประเทสที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมในแต่ช่วงวัยโดยเฉพาะในเด็ก

นอกจากบริบทของการเข้าถึงคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังมีปัจจัยด้านต่าง ๆ รวมถึงการตลาดที่สร้างมายาคติต่อการเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ อันเนื่องมาจากภาวะน้ำหนักเกิน และโรคอ้วน มิหนำซ้ำค่านิยมของวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักยังส่งผลต่อการใช้ชีวิต และปัญหาทางสุขภาพจิต เนื่องจากเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินจะรู้สึกด้อยค่าตนเองลง เพราะรูปร่างของตนไม่เป็นไปตามค่านิยมกระแสหลักของสังคม รวมถึงอาจกังวลกับการไม่เป็นที่ยอมรับ หรือเสียความมั่นใจในตัวเองไป

สำหรับสาเหตุของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน WHO อธิบายว่าเป็นผลมาจากการบริโภคพลังงาน หรือก็คืออาหาร มากเกินกว่าความต้องการในการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนมาจากทั้งสังคม การใช้ชีวิต และพันธุกรรม โดยปัจจัยด้านพันธุกรรมอาจจำเป็นต้องมีการรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ ขณะที่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและสังคม อาจเกี่ยวโยงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่สัมพันธ์กับความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงอาหารของคนที่แตกต่างกัน

สิ่งที่น่ากังวลคือ ประเทศที่มีรายได้ต่ำไปจนถึงรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่เผชิญกับภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) หรือสภาวะร่างกายที่ได้รับอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะกับความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะเด็ก ซึ่งพวกเขาได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ แต่ให้พลัลลงานที่สูง เช่น ไขมัน น้ำตาล และเกลือ เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ แต่ต้องแลกมากับคุณค่าของอากหารที่ลดลงมาเช่นกัน

ตามที่กล่าวไป เด็กจากประเทศที่มีรายได้ต่ำไปจนถึงรายได้ปานกลาง จึงมีภาวะน้ำหนักที่เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลให้เด็กเกิดโรคอ้วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ต้องเผชิญไปพร้อมกับปัญหาการขาดสารอาหารที่พอเหมาะต่อการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม

ด้วยปัญหาของโลกอ้วนที่ยังคงเกิดขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ทำให้ปีนี้สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) กำหนดธีมของการรณรงค์ว่า ‘Let’s Talk About Obesity And…’ โดยร่วมมือกับกลุ่มความร่วมมือโรคอ้วนทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วย UNICEF และ WHO จัดการสัมมนาที่นำโดยเยาวชน เพื่อเปิดบทสนทนาในมุมมองของสุขภาพ เยาวชน และโลกรอบตัวเรา แล้วดูว่าจะจัดการกับโรคอ้วนไปด้วยกันได้อย่างไร

ดังนั้นแล้ว ปัญหาโรคอ้วน เป็นปัญหาใหญ่ในระดับโครงสร้างที่เกี่ยวพันกับปัจจัยเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร และความเหลื่อมล้ำของรายได้ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงอาหารที่แตกต่างกัน ปัญหาโรคอ้วนในกลุ่มคนทั่วไป การเข้าถึงสุขภาพดีเป็นเรื่องของการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน รวมถึงการออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ช่วยควบคุมการได้รับพลังงานจากการรับประทานอาหารที่เกินความจำเป็นของร่างกาย ขณะเดียวกันในกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารอย่างเหมาะสมตามหลักโภชนาการ ยังเป็นปัญหาที่องค์กรด้านสุขภาพทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเติบโตของเด็กและเยาวชนต่อไปในอนาคต

การให้ความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วน จึงเป็นเรื่องที่องค์กรด้านสุขภาพทั่วโลกพยายามผลักดันไม่ใช่แค่เฉพาะในวันโรคอ้วนเท่านั้น เนื่องจากยังมีผู้ประสบปัญหาจากโรคอ้วนอยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลก การสรุปข้อมูลและแลกเปลี่ยนความร่วมมือจะช่วยเข้าใจถึงบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อนำไปสู่การออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างต่อไป

อ้างอิง

https://www.worldobesity.org/what-we-do/world-obesity-day

https://www.who.int/news-room/events/detail/2024/03/04/default-calendar/world-obesity-day-2024-obesity-youth-young-people-catalyzing-change

https://www.who.int/health-topics/obesity#tab=tab_1

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/obesity-and-overweight

Related Posts

Send this to a friend