HEALTH

กรมการแพทย์ เผย!โรคเสี่ยงในผู้สูงอายุที่มาพร้อมอากาศเย็น พร้อมแนะ 7 วิธี ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุช่วงฤดูหนาว

วันนี้ (4 พ.ย. 65 ) กรมการแพทย์ นำโดยนายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ ได้ออกมาเผยกลุ่มโรคเสี่ยงในผู้สูงวัยช่วงอากาศหนาว พร้อมกับแนะนำ 7 วิธี ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุช่วงฤดูหนาว ที่อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพผู้สูงอายุ และเน้นให้ผู้สูงวัยสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด รับประทานยาประจำตัวตามแพทย์สั่งและสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า “เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวอุณหภูมิก็จะลดลงผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ มีหลายโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบหรือติดเชื้อ ภาวะผิวหนังแห้ง เช่น ผิวหนังอักเสบและคัน เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อยและต่อมไขมันทำงานลดลง ทำให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นได้ โรคระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคความดันโลหิตสูง ภาวะอุณหภูมิของร่างกายลดลงผิดปกติ ประสาทรับรู้อากาศลดลง ร่างกายไม่ตอบสนองด้วยการหนาวสั่น ส่วนโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อ ผู้สูงอายุที่มีอาการปวดกระดูกและข้อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่ออากาศเย็นจะกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น เช่น โรคเกาต์ เป็นต้น”

นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า “วิธีการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในช่วงฤดูหนาวมี 7 วิธี” ได้แก่

1.ดูแลร่างกายให้อบอุ่นสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ
  3. ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ที่มาโรคหน้าหนาว
    5.รับประทานยารักษาโรคประจำตัวตามที่แพทย์สั่ง หากมีความผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที
    6.หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท
    7.สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้านหรือไปในสถานที่ชุมชน

โรคต่างๆที่มากับหน้าหนาวอาจสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สูงอายุ การดูแลและเข้าใจธรรมชาติของผู้สูงอายุ ร่วมกับการเฝ้าระวังและการป้องกันจึงเป็นการส่งเสริมสุขภาพให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีความสุข

Related Posts

Send this to a friend