POLITICS

ถอดบทเรียน ‘ศักดิ์-ศรี’ กับกรณี ‘ล็อกคอ’ มองความรุนแรงลึกถึงโครงสร้าง

เสวนาถอดบทเรียน ‘ศักดิ์-ศรี’ กับกรณี ‘ล็อกคอ’ มองความรุนแรงลึกถึงโครงสร้าง แนะแก้ด้วยสันติวิธี ขอทุกฝ่ายรับฟังกัน เสริมภราดรภาพในสังคม

วันนี้ (4 พ.ย. 65) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม ร่วมจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ศึก ศักดิ์ vs. ศรี” ถึง “กรณีล็อกคอ”: ฤาความรุนแรงจะคือคำตอบสำหรับความขัดแย้งทางการเมืองไทย? ณ ห้อง 102 คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดำเนินรายการโดย นายเสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ

พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า

นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า เปิดประเด็นถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ถูกล็อกคอภายในมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมองว่า เป็นการเจตนาตะโกนว่า “กูมีระเบิด” ขณะที่มีผู้คนอออยู่ที่บูธคณะก้าวหน้านับร้อยคน เพื่อให้คนระทึกขวัญและไม่กล้าเข้าไปช่วย ซึ่งไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร เพราะ เค ร้อยล้าน เคยข่มขู่คณะก้าวหน้ามาหลายครั้งแล้ว

“เค ร้อยล้าน เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้มีความสุดโต่งทางการเมืองและต้องการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่ใช่คนแรกที่เราเจอจากการทำงานของอนาคตใหม่ ความรุนแรงมักจะทำโดยผู้มีอำนาจหรือผู้ที่หวั่นกลัวจะสูญเสียอำนาจ แน่นอนไปไหนก็ถูกตะโกน เปิดเพลงไล่ แต่สุดท้ายไม่เคยทำให้เราหยุดยั้งการทำงานทางการเมืองของเรา” โฆษกคณะก้าวหน้า กล่าว

นอกจากนี้ นางสาวพรรณิการ์ ยังยกตัวอย่างการรับมือต่อคนเห็นต่าง คราวคณะก้าวหน้าลงพื้นที่หาเสียงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช พบผู้เห็นต่างทางการเมืองเข้ามาพูดคุยด้วย แต่ก็ได้กล่าวตอบด้วยดี โดยไม่มีการใช้ความรุนแรง ทั้งยังได้จับมือกันก่อนแยกย้ายกันไป ซึ่งแม้ไม่ได้เห็นตรงกัน แต่อย่างน้อยวันนั้นทำให้ทั้งสองฝ่ายเห็นว่ามันมีพื้นที่ที่พูดคุยกันได้

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักเคลื่อนไหวกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ส่วนนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักเคลื่อนไหวกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า ปกติตาเราเห็นความรุนแรงทางวาจาหรือทางกายภาพ แต่ความจริงยังมีความรุนแรงทางกฎหมาย หรือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง จากกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือการดำเนินคดีกับนักศึกษาผู้ชุมนุม

“มันคือการเสริมความรุนแรงเข้าไปในตัวกฎหมายเพื่อจัดการกับผู้เห็นต่าง มีทั้งการติดกำไล EM การคุกคามถึงบ้าน มันเป็นอย่างนั้นมาตลอด จึงมีการแสดงออกทางการเมือง เพราะเราโกรธที่มันไม่เป็นธรรม มีอำนาจโดยไม่ชอบ เราใช้ความโกรธในการขับเคลื่อนเป้าหมายของเรา แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะใช้ความโกรธในวิธีการของเรา” นางสาวปนัสยา กล่าว

นางสาวปนัสยา อธิบายถึงสาเหตุที่เลือกแนวทางสันติวิธีว่า สันติวิธีไม่ใช่เรื่องโลกสวย แต่เป็นการมองและเลือกตามความเป็นจริง (realistic) อย่างดีที่สุดแล้ว อัตราความสำเร็จของการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีมีมากกว่าความเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรงถึง 3 เท่า และสันติวิธีไม่ได้หายไปไหนตั้งแต่ปี 2563 และมันเป็นแนวทางที่มีความหวังมากที่สุด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตอนที่เกิดปรากฏการณ์นี้ก็สังคมก็กล่าวถึงความรุนแรงเชิงกายภาพ จนถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง แต่ในฐานะนักมานุษยวิทยา ยังสามารถขยายแนวคิดความรุนแรงออกไปอีกก็คือ ความรุนแรงในชีวิตประจำวัน (Everyday Violence) นั่นคือคนรู้สึกสะใจที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา ถูกกระทำ ซึ่งสะท้อนว่ากลไกของรัฐไร้ประสิทธิภาพเต็มทน

“ใช้ความรุนแรงแล้วคุณจะชนะเหรอครับ ? แล้วสังคมที่ไร้ความรุนแรงจะสร้างด้วยความรุนแรงได้เหรอครับ ? มันไม่มีทางอื่นที่จะสู้ด้วยแนวทางที่ไม่ใช่สันติวิธี” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ กล่าว

อาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองย้อนกลับไปถึงกรณี ‘ลุงศักดิ์’ ต่อยใบหน้า นายศรีสุวรรณ จรรยา ว่าไม่ใช่ความรุนแรงฝ่ายเดียวในทางกายภาพ แต่เป็นความรุนแรงสองฝ่าย ทั้งนี้ การใช้ความรุนแรงทางกายภาพก็ไม่ได้รับประกันว่าเป็นการสั่งสอนตามที่ลุงศักดิ์ต้องการ เพราะหลังจากนั้น สื่อก็เข้าหานายศรีสุวรรณมากกว่าเดิม และนายศรีสุวรรณยังเดินหน้าไล่ฟ้องอยู่อย่างต่อเนื่อง

“งานศึกษาหลายชิ้นระบุว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้างต้องแก้ในระดับโครงสร้าง เช่น การแก้ที่ตัวบทกฎหมาย ลดอัตราโทษลงให้เหมาะสม เลือกรับคำร้องเฉพาะที่มีมูลความผิดหรือหลักฐานเพียงพอ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมใช้เวลายาวนานกว่าการจัดการตัวบุคคล แต่ถ้าจุดหมายปลายทางคือการมีสังคมการเมืองที่เปิดกว้างและพร้อมรับฟังกันอย่างมีอารยะ เราจะใช้ความรุนแรงต่อคนที่คิดต่างจากเราได้อย่างไร ?” อาจารย์ชญานิษฐ์ กล่าว

ด้านอาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นด้วยกับวงเสวนา โดยกล่าวว่า ความรุนแรงจากรัฐถูกส่งต่อผ่านนโยบาย จนเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่แม้ไม่เห็นเลือดเนื้อ แต่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างสามารถทำลายชีวิตคนได้

“คำถามคือ ความรุนแรงแบบนี้ เราจะอยู่กันอย่างนี้ต่อไปหรือ ทั้งหมดที่เราเรียกร้องเรื่องเสรีภาพและคนเท่ากัน ก็ต้องกลับมาทบทวนดูเรื่องภราดรภาพด้วยหรือไม่ ที่อย่างน้อยความเป็นเพื่อนมนุษย์จะช่วยกลับมาคุ้มครองเรา เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ในสังคมของเรา เราอาจจินตนาการไม่ออกเพราะเราอยู่กับความรุนแรงมานาน จนเราลืมว่าเราสามารถสนทนากันได้” อาจารย์งามศุกร์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend