HEALTH

กรมควบคุมโรค เตือน สารพิษในบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เตือน ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ มากถึง 2.66 เท่า อันเนื่องจากสารพิษในบุหรี่ไฟฟ้า อย่างสารนิโคตินในปริมาณที่สูง และในกลุ่มผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมกับสูบบุหรี่มวนทุกวัน ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหัวใจขาดเลือด มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ สูงถึง 4.62 เท่า พร้อมกันนี้แนะนำกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่อาจถูกชักจูงได้ง่าย อย่าหลงเชื่อ และไม่ควรริลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว

นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการทำงานของของระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินในปริมาณสูง รวมทั้งยังมีสารอันตรายอื่นๆ เช่น โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง สารอินทรีย์ระเหยง่าย และสารเติมแต่งรสและกลิ่น เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผลงานวิจัย ที่เผยแพร่จำนวนมากยืนยันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะส่งผลกระทบ ต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ทำให้ความสมบูรณ์ของหลอดเลือดลดลง หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตัน และอาจรวมไปถึงสภาวะหัวใจทำงานหนักมากขึ้น จากภาวะดังกล่าวส่งผลให้มีความเสี่ยง ต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากถึง 2 เท่า นอกจากนี้ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกวัน มีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มากถึง 2.66 เท่า และในกลุ่มผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับสูบบุหรี่มวนทุกวัน ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหัวใจขาดเลือด มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ สูงถึง 4.62 เท่า

กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาจถูกชักจูงจนหลงเชื่อ และริลองให้สูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าทำลายสุขภาพ มีสารพิษ เสพติดอันตราย

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร. 02-590-3850

Related Posts

Send this to a friend