KNOWLEDGE

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ 2567 สาขารัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบรับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 สาขารัฐศาสตร์และ รัฐประศาสนศาสตร์ ให้กับ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้งานวิจัยที่ตอบโจทย์ทางสังคม และการเมืองการปกครอง

ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่สนใจทำงานวิจัย เนื่องจากผมเป็นคนชอบคิดชอบเขียนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ กึ่งวิชาการ หรืองานที่ไม่เป็นวิชาการ ความสำเร็จในการทำงานวิจัย จึงเกิดจากความชอบ และความขยันหมั่นเพียร

สำหรับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จะพิจารณาจากงานวิจัยในภาพรวม ตั้งแต่งานชิ้นแรกจนถึงล่าสุด ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ส่วนผลงานที่คัดสรรมาเป็นพิเศษ จากงานวิจัยทั้งหมด ได้แก่

1.Postmodern: ชะตากรรมโพสต์โมเดิร์น ในอุ้งมือนักปรัชญาการเมืองโบราณ กรุงเทพฯสำนักพิมพ์ Openbooks,2550

2.ข้อวิพากษ์ทฤษฎีการเมืองกระแสหลักของ คลิฟฟอร์ด เกียทซ์ กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ Openbooks, 2551

3.นิธิ เอียวศรีวงศ์ใน/กับวิกฤตการเมืองไทย กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์คบไฟ,2557 ได้รับรางวัลวิจัย ระดับดี สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ประจำปี 2555 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

4.จอน เอลสเตอร์กับทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ Way of Book, 2557

5.ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (จากมุมมองทางรัฐศาสตร์) กรุงเทพฯ สถาบันพระปกเกล้า,2560 ได้รับรางวัลงานวิจัย ระดับดี สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ประจำปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

6.ปิยกษัตริย์ เส้นทางสู่ระบอบกษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก,1849 กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์คบไฟ,2561

สำหรับแนวทางการทำงานวิจัยสาขารัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ของ ศ.ดร.ไชยันต์ เป็นการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ เกี่ยวกับแนวทางและระเบียบวิธิวิจัย ที่เป็นแบบอย่างของการศึกษาตีความตัวบทเชิงวิพากษ์ แนวทางการศึกษาบริบททางความคิด ซึ่งจะสามารถสร้างการรับรู้ทางทฤษฎีจากมุมมองที่เปิดกว้าง หลากหลาย ไม่ยึดติดกับ ‘กรอบ’ หรือ ‘วิธีวิจัย’ แบบใดแบบหนึ่งในการวิเคราะห์และตีความข้อมูล ซึ่งข้อเท็จจริงจากกรอบหรือ ‘อคติ’ ทางวิชาการ จะเป็นประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัย เพื่อตอบโจทย์ให้กับปัญหาทางสังคม และการเมืองการปกครองไทยอย่างแท้จริง

สำหรับผลงานวิจัยเรื่อง “ผลจากการศึกษาหลักว่าด้วยสัมพันธภาพทางอำนาจสำหรับจัดการปกครองและหลักนิติรัฐ-นิติธรรม โดยเฉพาะต่อกรณีปัญหา ความขัดแย้งทางการเมือง อันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องรูปแบบ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์” เป็นงานวิจัยที่สะท้อนถึงลักษณะเฉพาะ ของการปกครองแบบ Constitutional Monarchy ที่มีพัฒนาการแตกต่างกันตามเงื่อนไข เฉพาะของแต่ละสังคม ซึ่งทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อบทบาท และความสำคัญของสถาบันพระกษัตริย์ ในฐานะที่เป็นสถาบันหลักของสังคมไทย บนหลักการและเหตุผลอย่างแท้จริง เป็นการลดความขัดแย้งของคนในสังคม ที่มีสาเหตุมาจากการขาดความเข้าใจ หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญ ของการมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์

ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวว่า การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทางปรัชญาการเมือง จะทำให้คนและสังคม มีเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ และทำความรู้จักตัวตนของตัวเอง ที่สำคัญยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำให้เกิดกระบวนการคิด และเรียนรู้เชิงวิพากษ์ และค้นหาประเด็นที่มีความสำคัญในการดำเนินชีวิต อันเกี่ยวข้องกับความรู้ ความดี ความยุติธรรม รูปแบบการเมืองการปกครอง ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับสังคม ได้มีสติไตร่ตรองเรื่องราวต่างๆ อย่างเท่าทันและรอบคอบ

ทั้งนี้ ศ.ดร.ไชยันต์ ได้วางแผนการทำงานวิจัยในอนาคตว่า จะศึกษาวิจัยพัฒนาการ ของระบอบพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับพัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย ศึกษาการเมืองไทยในประวัติศาสตร์ จากเอกสารหลักฐานชั้นต้น และศึกษาในมิติที่ยังไม่เคยมีใครทำวิจัยมาก่อน

“ต้องมีใจรัก มีอุตสาหะ ขยัน มีวินัย ซื่อสัตย์และไม่ย่อท้อ” ข้อคิดสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ในการทำงานวิจัยให้ประสบความสำเร็จ จาก ศ.ดร.ไชยันต์

Related Posts

Send this to a friend