HEALTH

เตือนภัย ‘มะเร็งตับ’ รับเทศกาลสงกรานต์ โรคร้ายที่พรากลมหายใจคนไทยมากที่สุด

เดือนเมษายนของทุกปี เป็นเดือนที่ใครหลายคนเฝ้ารอ เพราะตรงกับเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาวของประเทศไทย แม้ว่าในปีนี้รัฐบาลจะขอความร่วมมือ งดจัดกิจกรรมที่รวมตัวกันของคนจำนวนมาก ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ได้แก่ งดสาดน้ำ งดประแป้ง งดจัดคอนเสิร์ต และงดปาร์ตี้โฟมเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่กิจกรรมที่ส่งเสริมประเพณีอันดีงามและพิธีทางศาสนา อย่างพิธีสรงน้ำพระ พิธีรดน้ำดำหัว ไหว้พระขอพร ได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าเทศกาลแล้ว องค์ประกอบหนึ่งที่ดูเหมือนเป็นของคู่กันก็คือ เครื่องดื่มมึนเมาจำพวกแอลกอฮอล์ มีการศึกษาพบว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 41-80 กรัมต่อวัน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ 1.5 เท่า และถ้าดื่มมากกว่า 80 กรัมต่อวัน ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นขึ้นเป็น 7.3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่มหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์น้อยกว่า 40 กรัมต่อวัน

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าจะหยุดดื่มแล้วก็ตาม แต่ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับก็จะไม่ลดลง ข้อมูลสถิติจากกองทุนวิจัยมะเร็งโลกในปี 2561 เผยว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์สูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ในผู้ชายและอันดับที่ 9 ในผู้หญิงทั่วโลก โดยพบผู้ป่วยใหม่กว่า 840,000 รายในปี 2561 ทั้งนี้ข้อมูลจากการวิจัยระบุว่า ยอดผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทยติดอันดับ 8 ของโลก โดยมีอัตราความชุกของโรคมะเร็งตับอยู่ที่ 21 รายต่อประชากร 100,000 คน 

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่าในปี 2563 มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบในคนไทยมากเป็นอันดับ 1 แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 16,000 ราย  ซึ่งปัจจัยเสี่ยงประกอบไปด้วย การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและโรคอ้วน การบริโภคแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสมและการสัมผัสกับสารอะฟลาท็อกซิน อาหารที่มีดินประสิว และอาหารหมักดอง ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารต่างๆ

พงศ์พสิน นวลละออ อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ

พงศ์พสิน นวลละออ อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ได้มาบอกเล่าประสบการณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอาการ แนวทางการรักษา และการใช้ชีวิตหลังจากที่รักษาหายแล้วว่า “ทีแรกผมไปตรวจเจอไวรัสตับอักเสบซีเมื่อปี 2551 กว่าจะรักษาจนค่าไวรัสตับอักเสบซีกลายเป็นศูนย์ ใช้เวลา 2-3 ปี จึงกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป ทานอาหารตามใจปาก จนไม่นานร่างกายก็เริ่มส่งสัญญาณ ผมเริ่มรู้สึกเจ็บแปลบๆ ใต้ซี่โครงด้านขวา ก่อนจะลามไปที่ไหล่ และง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา ทำให้ตัดสินใจไปปรึกษาอาจารย์หมอ หลังวินิจฉัยแล้วแพทย์ยืนยันว่าพบเซลล์มะเร็งที่ตับ ตอนนั้นเป็นช่วงปลายปี 2553 แต่แค่เพียงปีกว่าๆ มะเร็งกลับลุกลามไปถึงระยะสุดท้าย ระหว่างนั้นผมก็เข้ารับการรักษากับอาจารย์หมอมาตลอด จนกระทั่งปลายปี 2555 ผมสังเกตได้ว่าท้องจากที่เคยมีอาการบวม ค่อยๆ ยุบลงทีละน้อย สภาพร่างกายฟื้นฟูขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อมองย้อนกลับไป ความรู้สึกแรกเมื่อตรวจเจอมะเร็งตับ คือสภาพจิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหวัง จากที่เคยใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติก็กลับเบื่ออาหาร ถ่ายเป็นสียางมะตอยสัปดาห์ละครั้ง แพทย์ต้องให้มอร์ฟีนทุก 6 ชั่วโมง ในแต่ละวัน ผมโดนฉีด 4 เข็ม แต่มอร์ฟีนเข็มหนึ่งออกฤทธิ์เพียง 2 ชั่วโมง แปลว่าอีก 4 ชั่วโมงต้องทรมานกับความเจ็บปวด นอกจากร่างกายจะได้รับผลกระทบจากโรคแล้ว สภาพจิตใจก็เช่นกัน ตลอดเวลาที่ป่วย สมองครุ่นคิดอยู่เพียงแต่เรื่องเดียวคือเรื่องโรค แวบหนึ่งผมคิดถึงครอบครัวซึ่งเปรียบเหมือนประกายความหวังเล็กๆ แม้ว่าตอนนั้นโอกาสรอดยังดูริบหรี่ แต่ด้วยกำลังใจที่ยังเข้มแข็ง เราจึงบอกตัวเองว่ายังตายตอนนี้ไม่ได้ เราต้องสู้

สำหรับประสบการณ์การรักษามะเร็งตับระยะสุดท้าย เริ่มด้วยการฉีดยาเพื่อบล็อกเส้นเลือดซึ่งไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้ก้อนมะเร็งตับเดิมขนาด 21 เซนติเมตรฝ่อลงเหลือเพียง 7 เซนติเมตรเท่านั้น ท้องที่เคยบวมจึงค่อยๆ ยุบลง ต่อมาแพทย์จึงใช้วิธีการจี้ โดยแจ้งให้ผมทราบก่อนถึงความเสี่ยงของการรักษาด้วยแนวทางนี้ว่าตับของคนเรามีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากมาย ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดได้ ผมเป็นเคสหนึ่งที่โชคไม่ดีนักเนื่องจากจี้ไปโดนเส้นเลือดแตก ทำให้แพทย์ต้องระงับการรักษาทันทีเพื่อนำผมเข้าไอซียู 10 ชั่วโมงผ่านไป ผมจึงได้ออกจากไอซียูและอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับใหม่ ในที่สุดร่างกายก็ฟื้นฟูและหายขาดจากโรคในที่สุด การปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผมไปพบแพทย์ทุกครั้งตามนัด เลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อถนอมตับใหม่ให้ทำงานได้อย่างดีที่สุด ผมอยากฝากถึงผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้กับโรคอยู่ว่าการเป็นมะเร็งไม่ได้แปลว่าต้องเสียชีวิตเสมอไป เราต้องมีความหวังและเชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางการแพทย์”  

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: NCI) กล่าวถึงปัญหาของโรคมะเร็งตับในสังคมปัจจุบัน “จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติเป็นผู้รวบรวม ปัจจุบันพบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตชายไทยเป็นอันดับ 1 และหญิงไทยเป็นอันดับ 2 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบเเพทย์ในระยะลุกลาม อาจจะเนื่องมาจากโรคนี้ไม่เเสดงอาการในระยะเริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน เพราะการรักษาปัจจุบันยังมีข้อจำกัด ประกอบกับข้อมูลที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 ในปีพ.ศ. 2564 ยิ่งอาจจะทำให้สถานการณ์โรคมะเร็งตับในประเทศไทยเลวร้ายลง เพราะผู้ป่วยบางรายเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ทำให้เกิดความสูญเสียของเเรงงานเเละศักยภาพในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเเละพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีการประมาณการว่ามูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคมะเร็งตับที่เกิดจากการบริโภคแอลกอฮอล์เพียงปัจจัยเดียวก็สูงถึง 11,836 ล้านบาทในเพศชาย เเละ 706 ล้านบาทในเพศหญิง จากสถานการณ์เเละผลกระทบดังกล่าวเราอาจจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับให้ดีขึ้นต่อไป เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต”

ณ วันนี้โรคมะเร็งตับจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจกำลังเผชิญกับความเสี่ยง ยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์รวมถึงงานรื่นเริงที่มีตลอดทั้งปี ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับจะมากหรือน้อยต่างขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล ไม่ว่าเป็นการรับประทานอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์ และการพักผ่อนที่เพียงพอ รวมทั้งการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินความเสี่ยงหรือหาทางป้องกัน แม้มะเร็งตับจะถือเป็นภัยร้ายที่จู่โจมร่างกายอย่างเงียบ ๆ แต่โรคนี้ก็ยังมีโอกาสรักษาหายเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Related Posts

Send this to a friend