HEALTH

สวรส.เผย ผลวิจัยต่างประเทศ พิสูจน์พบประสิทธิภาพกัญชากับการใช้ทางการแพทย์

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เผยผลวิจัยต่างประเทศพิสูจน์พบประสิทธิภาพกัญชากับการใช้ทางการแพทย์ เพื่อการรักษา การเข้าถึง และคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ภายหลังจากที่ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้กรอบอนุสัญญาเดี่ยว ว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1961 เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย โดยมีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้อง กับข้อกำหนดและจุดประสงค์ดังกล่าว

“นพ.นพพร กล่าวว่า “การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ได้พิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน สามารถเข้าถึงการรักษา และลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ทั้งในระดับของผู้ป่วยและระบบสุขภาพในภาพรวม ตลอดจนทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น จากความเจ็บปวดที่ลดลงหรือสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด ทั้งนี้ “ผลการทบทวนเอกสารงานวิจัยต่างประเทศ เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์” ของศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผลวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งได้รวบรวมผลการศึกษาต่างๆ ในเรื่องประสิทธิภาพของการนำกัญชา มาใช้ทางการแพทย์ที่มีในฐานข้อมูลทั้งหมด โดยพบว่ามีถึง 20 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กับการศึกษาความเจ็บปวด ซึ่งผลโดยรวมระบุว่า จากส่วนประกอบของ cannabinoid สามารถลดความเจ็บปวดได้ในระดับปานกลาง โดยเป็นความเจ็บปวดของผู้ป่วย ที่มีอาการทางระบบประสาท หรือความเจ็บปวดเรื้อรังจากโรคมะเร็ง โรคโครห์น (Crohn’s disease) โรคลำไส้ที่มีการอักเสบ ซึ่งความเจ็บปวดดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก

นอกจากนั้นยังพบการศึกษาประสิทธิภาพ ของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ในอีกหลายกรณี เช่น โรคเบาหวาน โดยสาร canabinoid สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยได้ ถึงแม้ว่ายังไม่พบประสิทธิภาพที่ชัดเจน ของการใช้กัญชากับการลดน้ำหนัก (โรคอ้วน) หรือโรคอื่นๆ ซึ่งการวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์กัญชาในทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข ส่วนการควบคุมการใช้กัญชานั้นเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมป้องกันมิให้เกิดการใช้ผิดประเภท

“การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์” มีวิธีการใช้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทาน การหยดใต้ลิ้น หรือการใช้ภายนอก โดยสารแคนาบินอยด์ในกัญชา ส่วนมากจะนำมาใช้ในการรักษาโรค ซึ่งมี 2 ตัวหลัก ได้แก่ Delta-9-TH และ Delta-9-THC ที่เมื่อรับประทานเข้าไป ตับสามารถกำจัดออกจากร่างกายได้ ส่วนการใช้กัญชาด้วยวิธีการสูบนั้น พบว่าสารแคนาบินอยด์ที่เข้าสู่กระแสเลือด จะมีขนาดและปริมาณที่น้อยกว่าการรับประทาน ทั้งนี้การใช้สารกัญชาในรูปแบบของสเปรย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Nabixmols เป็นการนำเอาสารเคมีทั้งสองตัวมารวมกันในยาตัวเดียว

งานวิจัยที่เกี่ยวกับความเจ็บปวดเรื้อรังจากโรคมะเร็ง มี 2 งานวิจัย (ของ Portenoy et al., 2012 และ Johnson et al., 2010) ที่ศึกษาประสิทธิภาพของ THC และ CBD โดยทดลองด้วยการให้ยาที่เป็นสูตรผสมระหว่าง THC และ CBD ในรูปแบบของสเปรย์ที่ใช้ฉีดพ่น ในช่องปาก เมื่อมีการประเมินความเจ็บปวดโดยใช้ (NRS scale) พบว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยรับรู้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดลดลง ในกลุ่มที่ให้การรักษาแบบขนาดยา ที่มีปริมาณต่ำและปริมาณปานกลาง

นอกจากนั้นการศึกษาวิจัยและทดลอง ในผู้ป่วยชาวอิสราเอลที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคโครห์น โรคลำไส้อักเสบชนิดเป็นแผล หรือโรคที่ลำไส้มีการอักเสบ โดยที่ผู้เข้าร่วมทุกคนได้รับการรักษาด้วยกัญชาแห้ง และได้รับการแนะนำใช้ยากัญชาแบบสูดดม โดยสามารถสูดดมได้ถึง 3 ครั้งต่อการบรรเทาอาการปวดแต่ละครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการผลข้างเคียงทางจิต หลังจากการรักษาไปแล้ว 3 เดือน ผู้ป่วยมีการรับรู้ได้ว่าสุขภาพโดยรวมทั่วๆไปนั้นดีขึ้น การดำเนินชีวิตด้านสังคม ความสามารถในการทำงาน มีการตอบสนองในด้านดีขึ้น นอกจากนี้อาการเจ็บปวดและความเครียดวิตกกังวลลดลง

ในด้านโรคเบาหวาน มีงานวิจัยทั้งหมด 12 ชิ้นที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับสาร cannabinoids กับโรคเบาหวาน ซึ่งพบว่า การรักษาที่ให้สาร canabinoid สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ทดลอง ที่เป็นเบาหวานประเภท 2 ที่ไม่ได้ใช้อินซูลินในการรักษา โดยพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลง มีผลจากการได้รับ THCV และยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานของเซลล์ตับอ่อนที่ เรียกว่า beta-cell ได้อย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษา ในกลุ่มอื่นๆรวมถึงกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก

ในส่วนโรคน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วน พบ 7 งานวิจัยที่มีการศึกษาประสิทธิภาพของสารแคนาบินอยด์กับน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือโรคอ้วนซึ่งไม่พบความสัมพันธ์ของการรักษา แต่ขณะที่งานวิจัยของ Aronne et al, 2011 ในกลุ่มโรคอ้วน และมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 พบสัดส่วนของอาสาสมัครที่มีน้ำหนักลดลง 5-10% หลังจาก 1 ปี อย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่พบ ความแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการที่ทำให้น้ำหนักลดในระหว่างสองกลุ่ม

สำหรับโรคพาร์กินสันไม่พบความสัมพันธ์ของการรักษาโดยใช้สารแคนาบินอยด์กับโรค โดยพบการศึกษาวิจัยทั้งหมด 4 งาน ซึ่งมีงานวิจัยเพียงชิ้นหนึ่งที่พบประสิทธิภาพของ Nabilone โดยมีผู้ป่วย 2 ราย รายงานว่าการรักษาสามารถบรรเทาอาการปวดจากการบิดเกร็งผิดรูปของกล้ามเนื้อได้ แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงหรือเห็นผลที่ชัดเจนต่ออาการทางกล้ามเนื้อ รวมทั้งมีงานวิจัย 7 งาน ที่พบว่า cannabinoid ไม่ได้มีผลต่อการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

ส่วนภาวะวิตกกังวลพบงานวิจัยทางคลินิกทั้งหมด 9 งาน ที่ศึกษาเกี่ยวกับภาวะวิตกกังวล โดยพบว่า cannabinoid compounds มีทั้งที่ลดความวิตกกังวลลงได้ รวมทั้งสามารถเพิ่ม หรือไม่เพิ่มระดับของความวิตกกังวล ส่วนในอาการซึมเศร้านั้นมี 5งานวิจัย และพบว่า cannabinoid ไม่ได้มีผลต่ออาการซึมเศร้า นอกจากนี้ยังอาจมีอาการข้างเคียง ที่พบได้มากที่สุด คือ ปวดหัว ตาแห้ง ความรู้สึกแสบร้อนบริเวณปลายประสาทที่ถูกทำลาย คลื่นไส้ ชา และ ไอ

Related Posts

Send this to a friend