นพ. ณรงค์ศักดิ์ เกียรติขจรธาดา กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน โรงพยาบาลฯ มีนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อตรวจหาความผิดปกติของยีนเพื่อวิเคราะห์โอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งของแต่ละบุคคลในอนาคตได้ ทำให้สามารถวางแผนออกแบบโปรแกรมการดูแลตนเองได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยสาเหตุการเกิดมะเร็งส่วนใหญ่มักเกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตถือเป็นอีกสาเหตุสำคัญ กลุ่มเสี่ยงจึงควรมาตรวจคัดกรองประเมินผลเพื่อป้องกันหรือรักษาอย่างทันท่วงที ในกรณีที่พบเจอชิ้นเนื้อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง ทำให้รักษาโรคได้อย่างแม่นยำ และวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีพยาธิแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยว่าชิ้นเนื้ออย่างละเอียด ซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อต้องอาศัยความชำนาญขั้นสูงเพื่อความแม่นยำ ถัดไปจึงเป็นการวางแผนการรักษา โดยการผสมผสานการรักษาหลายวิธีเข้าด้วยกัน อาทิ การรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด, การฉายรังสี (การฉายแสง), การฉายรังสีด้วยเทคนิค VMAT, การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก (Stem cell), การฝังแร่กัมมันตรังสี (Brachytherapy), การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) หรือ การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นต้น”