HEALTH

คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี จับมือสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ตั้งธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรายใหม่และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวนมากกว่า 3,800 รายต่อปี ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทางคณะแพทย์ได้เล็งเห็นความสำคัญในด้านดังกล่าวและได้จัดให้มี ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะใช้ต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ได้เองในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการวินิจฉัยและการรักษามะเร็งได้ในอนาคต

ปัจจุบันมีตัวอย่างทางคลินิกต่างๆ เช่นชิ้นเนื้อมะเร็งและเลือด ที่ถูกเก็บไว้ในธนาคารชีวภาพจากผู้ป่วยมะเร็งทั้งสิ้น 2,000 ราย จากการดำเนินงานทั้งหมด 5 ปี ความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จะทำให้ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร เกิดการพัฒนารูปแบบบูรณาการทั้งด้านการศึกษา วิจัย และวิชาการ จากการใช้ฐานข้อมูลและตัวอย่างทางคลินิกร่วมกัน

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ซึ่งจะส่งผลดีต่อการร่วมพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทย รวมทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบที่สำคัญให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่น ๆ ในด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งรวมถึงโรคเรื้อรังที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงต่อไปได้ในอนาคต อีกทั้ง ความร่วมมือกันระหว่างสององค์กรทางด้านสุขภาพ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่งานบริการร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทยที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีตามมาตรฐานสากล

Related Posts

Send this to a friend