HEALTH

ผู้เชี่ยวชาญ แนะวิธีรับมือ PTSD และจัดการความรู้สึกหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

โรคเครียดหลังการเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ หรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder) สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง สะเทือนจิตใจ หรือผู้เกี่ยวข้องที่ขวัญเสียจากการรับรู้เรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งบางรายอาจรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ หรือบางรายก็เกิดอาการเมื่อได้พบกับสิ่งเร้า หรือสิ่งกระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เจอมา

พญ. วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ข้อมูลกับ The Reporters ว่า ผู้ที่ประสบเหตุการณ์รุนแรง เช่นเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนในห้างสรรพสินค้าที่เพิ่งเกิดขึ้น จะก่อให้เกิดความเครียด หวาดกลัว ไปจนถึงความกังวลในการใช้ชีวิตประจำวันต่อไปในอนาคต หลายรายรู้สึกกังวลไปหมด และตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ รอบตัว เช่นเสียงดัง หรือการแต่งกายที่คล้ายคลึงกับผู้ก่อเหตุ

“สำหรับในคนที่มีความเครียดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จะยิ่งกระตุ้นหรือยืนยันความกังวลยิ่งขึ้นไปอีก ในลักษณะของการที่บุคคลดังกล่าว มองว่าโลกใบนี้เต็มไปด้วยอันตรายไม่น่าอยู่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมาพบจิตแพทย์ เพื่อรับยาในการช่วยปรับความคิดให้กลับไปเหมือนเดิม หรือทำให้อาการดีขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ”

สังเกตได้อย่างไรว่าเป็นอาการของ PTSD

ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อธิบายว่า ภาวะเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ หรือ PTSD นั้นจะมีอาการแตกต่างกันไป อาทิ

1.เห็นภาพบรรยากาศสะเทือนขวัญ ลอยมาอยู่ตลอดเวลา
2.ได้ยินเสียงเหมือนตอนที่ตัวเอง อยู่ในเหตุการณ์จริงตลอดเวลา เช่น เสียงดัง
3.เลี่ยงไม่กล้าไปในสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ อีก
4.ฝันร้ายนอนไม่หลับ

ทั้งนี้ อาการเหล่านี้ สามารถดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากมีอาการเรื้อรังเกิน 1 เดือน ควรพบผู้เชี่ยวชาญ หรือจิตแพทย์เพื่อพูดคุย หาทางแก้ปัญหาดังกล่าว

เมื่อประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ควรรับมืออย่างไร

พญ.วิมลรัตน์ ย้ำว่า วิธีการรับมือหลังจากพบ หรือตกอยู่ในเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั้น เบื้องต้นขอให้ผู้ประสบเหตุเข้าใจว่า ทุกคนสามารถเกิดความกลัวได้ และให้พยายามกลับไปใช้ชีวิตตามปกติให้เร็วที่สุด กลับไปทำงาน ไปโรงเรียน ไม่ติดอยู่กับเหตุการณ์รุงแรงนั้นๆ โดยแนะนำให้พยายามขยับตัว หรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกาย เช่น ออกกำลังกาย เพราะจะทำให้เหนื่อย และคิดมาก น้อยลง รวมถึงช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับผู้ประสบเหตุรุนแรงบางรายที่รู้สึกแย่กับเหตุการณ์ที่พบเจอ สามารถสร้างกำลังใจให้กับตัวเองได้ด้วยการทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคม เช่น การทำบุญ การช่วยเหลือคนยากไร้ เพราะการทำกิจกรรมเหล่านี้ จะส่งเสริมให้เกิดทัศนคติเชิงบวก และความสบายใจได้

“ในส่วนของผู้ที่ดูข่าวสาร เกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว และทำให้เกิดความเครียดนั้น แนะนำว่าควรออกห่าง หรือดูให้น้อยลง อย่าดูข่าวจนกลับไปทำงานไม่ได้ หรือใช้ชีวิตปกติไม่ได้ ดังนั้นควรกลับไปใช้ชีวิตให้เป็นปกติ และรับชมข่าวสารบ้างตามสมควร หรือ ให้คิดว่าเราสามารถช่วยสังคมได้อย่างไรบ้าง หากว่าตกอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น หากเป็นพ่อแม่เราจะเลี้ยงดูลูกอย่างไร เพื่อให้รับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ หรือถ้าเป็นตัวเราเอง ก็ให้คิดว่าเราจะดูแลร่างกายให้แข็งแรงอย่างไร เพื่อที่จะไม่เจ็บป่วย หรือรับกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้เป็นอย่างดี และหากเราเป็นครู จะดูแลเด็กอย่างไรเพื่อให้ห่างไกล จากเหตุรุนแรงเหล่านี้ เป็นต้น”

ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน นอกจาก รับมือกับการที่ผู้ประสบเหตุรุนแรง ต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์รุนแรง โดยไม่คาดคิด คือการประเมินตัว ว่ามีความเครียดมากแค่ไหน หลังเข้าไปอยู่สถานการณ์ดังกล่าว เช่น หากยังไม่ต้องการไปพบจิตแพทย์ ก็สามารถเข้าไปทำแบบประเมินความเครียดได้ที่ www.วัดใจ.com ทั้งนี้หากคะแนนการเป็นประเมิน เข้าขึ้นต้องพบจิตแพทย์ ทางเว็บไซต์ก็จะมีคำถาม เพื่อให้ผู้ประเมินทิ้งเบอร์ศัพท์ไว้ และจะมีเจ้าหน้าที่ด้านจิตวิทยา โทรศัพท์กลับไปพูดคุย หรือ สามารถโทรศัพท์ได้ที่เบอร์ 1323 ซึ่งเป็นสายด่วนสุขภาพจิต เพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยาได้เช่นกัน ซึ่งเป็นบริการที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถโทรฟรีตลอด 24 ชม.”

Related Posts

Send this to a friend