ECONOMY

สศก. เผย GDP เกษตร โตขึ้น 0.3% เตือน สภาพอากาศแปรปรวน-ต้นทุนสูง อาจส่งผลให้หดตัวลง

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 ปี 2566 (เมษายน-มิถุนายน) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาพืชหดตัวลง เนื่องจากปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้พื้นที่ทางภาคตะวันออกมีฝนตกชุกต่อเนื่องสลับกับมีลมพายุ ส่งผลให้สินค้ากลุ่มผลไม้ ดอก และผลร่วงหล่นเสียหาย ขณะที่พื้นที่ทางภาคใต้มีฝนน้อยและสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้สินค้าปาล์มน้ำมันและยางพารามีผลผลิตลดลง

นอกจากนี้ ราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญหลายชนิดอยู่ในระดับสูง ทั้งปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการผลิต ลดปริมาณการผลิตหรือใช้ปัจจัยการผลิตลดลง ส่งผลให้ภาพรวมของภาคเกษตรขยายตัวไม่มากนัก

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่า สาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.6 สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มังคุด และเงาะ สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลำไย ส่วนข้าวนาปีมีผลผลิตทรงตัว

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 3.2 สินค้าปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนบริการสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง คือ น้ำนมดิบ

สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 5.7 สินค้าประมงที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ กุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบ ปลานิลแ ละปลาดุก

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.0 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก โดยกิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินเพิ่มขึ้นในพื้นที่ปลูกพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 (ปีเพาะปลูก 2566/67) และกิจกรรมการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นในพื้นที่พืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ปีเพาะปลูก 2565/66) ส่งผลให้ภาพรวมในสาขาบริการทางเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษภายในประเทศ และการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น จีน และลาวที่เพิ่มขึ้น ถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคบริการในประเทศ ส่วน ไม้ยางพารา ผลผลิตลดลงตามพื้นที่ตัดโค่นสวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่น และรังนก ลดลงเนื่องจากมีการส่งออกไปจีนลดลง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ อาทิ บริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน แปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีในการผลิต การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง ประกอบด้วย ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ภาวะฝนทิ้งช่วงและแนวโน้มการเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงปลายปีที่จะทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง การระบาดของโรคและแมลง ที่ยังต้องติดตามต่อเนื่องทั้งสถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศ ราคาปัจจัยการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อและการลงทุนของเกษตรกร และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้

Related Posts

Send this to a friend