ECONOMY

ธนาคารโลก เผย เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปี 67 จากท่องเที่ยว-ส่งออก

ธนาคารโลก เผยรายงานจากการตามติดเศรษฐกิจไทย คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในปี พ.ศ. 2566 เป็นร้อยละ 3.2 ในปี พ.ศ. 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัว ของการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชนที่มั่นคง

รายงานระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2566 ได้รับผลกระทบจากการหดตัว ของการส่งออกสินค้าและการลดการใช้จ่ายภาครัฐ แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากขึ้น ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3.1 ในปี พ.ศ. 2568 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ร้อยละ 1.1 ในปี พ.ศ. 2567 เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น

ส่วนโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการวางแผนไว้ซึ่งมูลค่าโครงการคิดเป็นประมาณร้อยละ 2.7 ของ GDP โดยหากมีการดำเนินโครงการ คาดว่าจะสามารถกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้นได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 1 ของ GDP ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2567 และ 2568 แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลัง อาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 ถึงร้อยละ 5 ของ GDP ในขณะที่หนี้สาธารณะ อาจเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 65-66 ของ GDP

ทั้งนี้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และราคาน้ำมันที่สูงอาจทำให้ประเทศไทย เข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพา การนำเข้าพลังงานสูงกลายเป็นความเสี่ยงด้านลบ ต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ จะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

จากรายงานพบว่าการกำหนดราคาคาร์บอน ไม่ว่าจะผ่านภาษีคาร์บอน หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยาน ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยอาจใช้การกำหนดราคาคาร์บอนมากขึ้น เพื่อรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม หรือราคาคาร์บอนที่สูงมากเพื่อลดการปล่อยก๊าซ ตัวอย่างมาตรการเพิ่มเติม เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้า หรือการฝึกอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สามารถเร่งการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ได้

นาย ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2573”

“ในขณะที่ประเทศไทยได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2567 หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน การกำหนดราคาคาร์บอน จะต้องถูกพิจารณาเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่สำคัญ”

มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจ และสาธารณสุขของประเทศไทย การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการกำหนดราคาคาร์บอน จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยลดลง ในปี พ.ศ. 2562 ความเสียหายต่อสุขภาพ ที่มาจากการสัมผัสมลพิษ PM2.5 ทำให้ประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ประมาณร้อยละ 6 ของ GDP

ทั้งนี้รายได้ที่เกิดจากการกำหนดราคาคาร์บอน สามารถนำไปใช้เป็นเงินทุน สนับสนุนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอื่นๆ หรือเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายสาธารณะ ตัวอย่างเช่น ราคาคาร์บอนอาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ

ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายหลายประการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และได้ดำเนินการขั้นแรก เพื่อใช้การกำหนดราคาคาร์บอน อย่างครอบคลุมการซื้อ-ขาย การปล่อยก๊าซภาคสมัครใจ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 นโยบายเหล่านี้แม้จะช่วยจำกัด การเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต แต่ประเทศไทยจำเป็นต้อง มีความทะเยอทะยานเชิงนโยบายเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในปัจจุบัน

Related Posts

Send this to a friend