ECONOMY

ปลัดอุตฯ ลงพื้นที่ภาคใต้ชายฝั่งอันดามัน ยกระดับ 3 มิติอุตสาหกรรมพัฒนาสู่ชุมชนเข้มแข็ง

พร้อมชูกระบี่โมเดล สู่ต้นแบบการเชื่อมโยง การพัฒนาเครือข่ายธุรกิจในท้องถิ่นและชุมชน

วันนี้ (14 พ.ย. 65) ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ ลุยแผนยกระดับศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ชายฝั่งอันดามัน ขานรับนโยบายรัฐบาล นำร่องจังหวัดกระบี่ ส่งเสริม 3 มิติอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมภาคการบริการ อุตสาหกรรมเกษตรอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ด้วยการกระจายรายได้ให้กับภาคเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า“การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่ง ในระดับภูมิภาคควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนความมั่งคั่งของประชาชน ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นย้ำทุกฝ่ายให้ความสำคัญ ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ หนึ่งในจังหวัดเศรษฐกิจภาคใต้ชายฝั่งอันดามัน ที่มีศักยภาพในเชิงพื้นที่ด้านท่องเที่ยวและธุรกิจภาคบริการ โดยปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 4.28 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.12 แสนล้านบาท ตลอดจนศักยภาพด้านเกษตรอุตสาหกรรม อาทิ ปี 2564 ยางพารามีผลผลิตรวมกว่า 1.3 แสนตันต่อปี และปาล์มน้ำมันมีผลผลิตโดยรวมกว่า 3.4 ล้านตันต่อปี สอดคล้องกับร่างกรอบแผนพัฒนาภาคใต้ (พ.ศ.2566 – 2570) ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy)”

การเสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ จำเป็นต้องส่งเสริมให้ครอบคลุมใน 3 มิติ ประกอบด้วย

1.การพัฒนาภาคการเกษตรอุตสาหกรรม ผ่านการยกระดับไปสู่ความเป็น “เกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ” ที่สามารถลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพให้กับภาคการผลิต รวมทั้งการนำเครื่องจักรกลขนาดเล็กของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM ITC) เพื่อใช้ในการแปรรูปสมุนไพรพื้นถิ่น

2.การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ การพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมปาล์ม (Cluster) และการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมี รวมทั้งการจัดเตรียมสินเชื่อดีพร้อมเปย์ (DIPROM Pay) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธรุกิจ
3.การพัฒนาภาคบริการ เชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยว เน้นการสร้างคุณค่าการเดินทางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (High Value Sustainable Tourism) กระจายรายได้สู่ชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เติบโตคู่กับสังคมได้อย่างยั่งยืน ล่าสุดได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดกระบี่ให้ครอบคลุม 3 มิติ เชื่อได้ว่าจะสามารถสร้างรากฐานความมั่นคงให้กับภาคเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมการยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่ความเข้มแข็งในเวทีนานาชาติต่อไป

ด้าน นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม(DIPROM)เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมของฝากของที่ระลึก เป็นหนึ่งสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย ดีพร้อมจึงเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าชุมชน ประเภทของฝากของที่ระลึก เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็น ตลอดจนออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยอัตลักษณ์ โดยในปี 2565 ดีพร้อม ได้ดำเนินโครงการเพื่อผู้ประกอบการสินค้า ของฝากของที่ระลึกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จำนวน 1,100 กิจการ 320 ผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2,496 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้นำกลไกการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม 1 ใน 7 วิธีปั้นชุมชนให้ดีพร้อม โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเชิงพาณิชย์ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าให้มีคุณภาพและมูลค่าสูงสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยในปี 2565 ดีพร้อมประสบความสำเร็จในการพัฒนาสถานประกอบการ ประเภทของฝากของที่ระลึก จำนวนกว่า 50 กิจการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 35.56 ล้านบาท อาทิ เจลลี่กัมมี่มัลเบอร์รี่ กาแฟขี้ชะมด หอยกะพงอบแห้ง ไส้กรอกแพะ แหนมแพะ ซุปแพะสกัดเสริมคอลลาเจน น้ำปลาหวาน กะปิ ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม และเสื้อสำเร็จรูป และในปี 2566 มีแผนการดำเนินงาน ในการพัฒนาสถานประกอบการ จำนวน 55 กิจการ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม โดยเตรียมนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

โดยการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมโรงแรมและที่พัก อุตสาหกรรมอาหารและวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสมุนไพร ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ กิจกรรมพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและระบบอัตโนมัติหรือดิจิทัล ผลการดำเนินงานทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 25 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ดีพร้อมเตรียมวางแผนการพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวให้กลายเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติที่สำคัญ ด้วยการสร้างเครือข่าย Hub Of Medical Tourism ผ่านโครงการสร้างเครือข่ายผู้นำธุรกิจพันธุ์ดีพร้อม หรือ ดีพร้อมฮีโร่ (DIPROM HEROES) เน้นการปั้นปรุงเปลี่ยนผู้ประกอบการ ให้เติบโตเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ส่งต่อความยั่งยืนให้กับเครือข่ายชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด ดีพร้อม เตรียมนำรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ “โรงแรมอ่างนางปริ้นซ์วิลล์ วิลล่า รีสอร์ท
แอนด์ สปา” จังหวัดกระบี่ เป็นโมเดลต้นแบบแก่ผู้ประกอบการรายอื่น ตามโครงการ DIPROM HEROES เนื่องจากโรงแรมนี้ดำเนินธุรกิจทั้งการเป็นตัวกลาง ในการเชื่อมโยงและผลักดันให้เกิดกระบวนการพัฒนาเครือข่ายธุรกิจในท้องถิ่นและชุมชน พัฒนากิจกรรมชุมชนต่างๆ จนต่อยอดเป็นรายได้ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนำสินค้าที่ต่อยอดมาจัดจำหน่ายทำให้เกิดการหมุนเวียน สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นฐานราก สร้างความยั่งยืนต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ต่อยอดไปยังธุรกิจในรูปแบบใหม่ได้

Related Posts

Send this to a friend