CRIME

บช.ก.จับกุมเจ้าหน้าที่ อบต. ใน 7 จังหวัด ยักยอกเงินหลวงกว่า 80 ล้าน

วันนี้ (14 มิ.ย. 66) ที่กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นำโดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงผลการร่วมปฏิบัติการ “Stop Cyber Corruption” จับกุมเจ้าหน้าที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยักยอกเงินหลวงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมมูลค่ากว่า 80 ล้านบาท

พล.ต.ท.จิรภพ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ ปปป. และหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และเจ้าพนักงานธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมปฏิบัติการ stop cyber Corruption จับกุมเจ้าพนักงานสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 7 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ ป.ป.ท.ได้ตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และบัญชีของหน่วยงานได้ยักยอกเบิกถอนงบประมาณของหลวงไปใช้จ่ายส่วนตัว จึงได้ดำเนินการตรวจสอบการทำธุรกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่น่าสงสัย จนสามารถติดตามจับกุมผู้กระทำผิดได้ 9 ราย ใน อบต.นิลเพชร จ.นครปฐม, อบต.หนองหัวโพ จ.สระบุรี, อบต.ห้วยยายจิ๋ว จ.ชัยภูมิ, อบต.โคกหล่าม จ. ศรีสะเกษ, อบต.ขาเขลียง จ.นครศรีธรรมราช

เบื้องต้น ผู้ต้องหายอมจำนนต่อหลักฐาน และให้การรับสารภาพ ซึ่งหลังจากนี้ยังจะนำรูปแบบการประทุษกรรมดังกล่าวไปสืบสวน และตรวจสอบธุรกรรมที่เข้าข่ายการทุจริตในองคค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นการยับยั้ง ป้องปราม ตัดวงจรการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

ด้าน นายกฤษณ์ กระแสเวส รองเลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กล่าวว่า การทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เกิดจากผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่กลับละเว้นหน้าที่ นำรหัสการทำธุรกรรมไปให้กับเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และพบว่ามีการทุจริตในลักษณะเดียวกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ อบต. เล็กๆ ก็มีความเสียหายแล้วกว่า 300 ล้านบาท

ด้าน พ.ต.ท.ศิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ยักยอกเงินร้อยละ 90 ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ และระบบนี้สามารถเบิกจ่ายได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเบื้องต้นมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,900 แห่งที่ใช้ระบบธุกรรม KTB Corporate Online ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งบางกรณีพบว่ามีการใช้ลูกจ้างป็นนอมินีเพื่อโอนเงินให้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไป ทั้งยังมีการตกแต่งบัญชีเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ และยังมีการตัดการแจ้งเตือนธุรรกรรมที่เกิดจากการทำทุจริตออกเพื่อไม่ให้ผิดสังเกตด้วย

ทั้งนี้ ในการตรวจสอบจับกุมใน 7 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 84 ล้านบาท ซึ่งตำรวจยังเชื่อว่ามีอีกหลายแห่งที่ยังมีการลักลอบก่อเหตุแบบนี้อยู่ หลังจากนี้ก็จะร่วมสืบสวนกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทย ในฐานะเจ้าของบัญชีที่ใช้เบิกจ่ายเงินของทางราชการจนนำไปสู่การสืบสวนและจับผู้ก่อเหตุได้

พ.ต.ท.ศิริพงษ์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบประวัติการใช้เงินของผู้ต้องหาพบว่าเกี่ยวข้องกับการเล่นพนันออนไลน์ทั้งหมด โดยได้ตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2564 รวมทั้งตรวจสอบบัญชีเงินเดือนของผู้ต้องหาที่พบไม่มีความสอดคล้องกับจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี

Related Posts

Send this to a friend