CRIME

“ขายเครื่องมือประมง – เครื่องประดับจากซากสัตว์น้ำ”

กรมประมง ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ Shopee – LAZADA สร้างความเข้าใจ “ขายเครื่องมือประมง & เครื่องประดับจากซากสัตว์น้ำ อย่างไร ให้ถูกกฎหมาย”

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการซื้อขายในรูปแบบ e-commerce หรือ ขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ร้านค้าปลีกหรือโรงงานผู้ผลิตสามารถขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านช่องทางการขายออนไลน์ จึงเป็นเหตุให้มีร้านค้าปลีกหรือโรงงานผู้ผลิตบางราย นำสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น หม้อน็อคปลา ลอบพับได้หรือไอ้โง่ โพงพาง ปะการัง กัลปังหา หรือกระดองเต่า เป็นต้น มาขายผ่านช่องทางออนไลน์

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การประกาศขายโฆษณาเครื่องมือทำการประมงบางชนิด หรือซากของสัตว์คุ้มครอง เช่น หินปะการัง ปะการัง กัลปังหา หรือเต่า บนแพลตฟอร์มของบริษัท Shopee และบริษัท ลาซาด้า จำกัด ยังไม่มีคำแนะนำที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภครายใดไม่ทราบข้อมูลและซื้อสินค้าดังกล่าวไปใช้ในแหล่งน้ำสาธารณะ หรือมีไว้ในครอบครอง อาจส่งผลให้ผู้ซื้อสินค้าถูกจับ ถูกปรับ และถูกดำเนินคดีได้ โดยมีอัตราโทษค่อนข้างรุนแรง

สำหรับข้อกฎหมายและบทกำหนดโทษ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายออนไลน์ในกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย 1) พรก.การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2560 โทษปรับ 2 แสน ถึง 1 ล้านบาท หรือ ปรับ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง 2) พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่ห้ามค้า, โดยผู้ที่ค้าสัตว์ป่าสงวน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 3 แสน ถึง 1.5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ที่ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้มีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ซื้อ ต้องขอรับใบอนุญาตตามกฎหมาย

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เป็นห่วงผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะถูกดำเนินคดีจากความไม่เข้าใจในกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถเลือกซื้อจากร้านค้าออนไลน์ได้ง่าย จึงได้เชิญกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท Shopee บริษัท LAZADA และบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือเพื่อขอความร่วมมือช่วยประชาสัมพันธ์ และแจ้งร้านค้าปลีกหรือโรงงานผู้ผลิต ที่ขายสินค้าประมง ว่า ต้องมีคำอธิบายหรือคำแนะนำให้กับผู้บริโภค เพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดกฎหมาย ป้องกันการถูกจับกุมดำเนินคดีจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และเพื่อป้องกันการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ

Related Posts

Send this to a friend