CRIME

เปิดเหตุผล ‘จำเลย-ทนาย’ คดีปักหมุดราษฎร ขอถอนทนายความ เผย เตรียมยื่นชี้แจงศาล 19 เม.ย.นี้

เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยกับ The Reporters กรณีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และจำเลยในคดีการชุมนุม 19-20 ก.ย. 63 ได้ขอยื่นถอนทนายความ ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 64

หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คดีการชุมนุม 19-20 ก.ย. 63 หรือที่ศูนย์ทนายฯ เรียกว่า ‘คดีปักหมุดราษฎร’ ศาลอาญาได้นัดจำเลยในคดีนี้มา 3 ครั้งคือ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 64 นัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 7 เม.ย. 64 นัดตรวจดูคลิปวีดีโอ และ 8 เม.ย. 64 ได้นัดตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งทั้ง 3 วันที่ผ่านมาเป็นเหตุทำให้จำเลยขอถอนทนายความ และทนายความขอถอนการเป็นทนายด้วย

“ทางเราใช้คำว่ามันไม่ป็นธรรมกับจำเลย และทนายความ ก็รู้สึกว่า บรรยากาศไม่เป็นมิตร ในคำร้องขอถอนทนายของเรา จึงอ้างเหตุว่า ทนายความจำเลยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นจริงและเป็นธรรม”

เยาวลักษ์ บอกว่า ข้อเท็จจริงในพฤติการณ์นี้ถ้าใครไปศาลอาญา จะรู้ว่ามีมาตรการเข้มข้น เมื่อทนายจำเลยไปแจ้งว่ามาคดีไหน ถ้าพบว่าเป็นคดีนี้จะมีโต๊ะพิเศษให้ไปลงชื่อ ในห้องพิจารณา และทนายความจะถูกยึดมือถือ แต่คดีอื่นทำไม่ไม่ยึด ซึ่งทนายได้ขอเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผล ซึ่งปัญหาน่าจะสืบเนื่องจากวันที่ 25 มี.ค. 64 ที่เพนกวินยืนกลางศาล ทำให้มาตรการเข้ม แต่เราได้บอกไปแล้วว่า คดีเพนกวินละเมิดอำนาจศาล ได้ถูกคุมขังไปแล้ว 15 วัน ก็น่าจะจบไปแล้ว ไม่เกี่ยวกัน

“คดีนี้จำเลยมี 7 คน พอจำเลยเข้ามาจะถูกราชทัณฑ์​ล็อคตัวหิ้วปีก ในห้องพิจารณาคดี ราชทัณฑ์จะประกบ ทนายไปคุยกับจำเลยไม่ได้เลย ต้องขออนุญาตศาลแต่ละครั้ง น้องทนายผู้ชายจะใช้ศัพท์ว่า เหมือนหายใจรดต้นคอ คุยอะไรกันราชทัณฑ์จะประกบตลอด จนเราไปแถลงต่อศาลว่า เราไม่มีอิสระที่จะคุยกับตัวความ กลายเป็นปัญหาทั้ง 3 วัน และจำเลยที่ถูกประกันไม่มีสิทธิจะคุยกับผู้ต้องขังได้ อย่างณัฐนนท์ ที่เป็นคู่ความกับเพนกวินก็ไม่ได้มาคุยด้วย”

หัวหน้าศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 เม.ย. 64 ตนเองพยายามนั่งนับว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีกี่คน ปรากฏว่ามีประมาณ 34 คนในห้องพิจารณาคดี ทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กับตำรวจศาล

“เราก็แถลงต่อศาลตลอดเวลาว่า บรรยากาศภายในศาลไม่อิสระ เรียกร้องขอให้เราได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระ ทางพี่ก็แจ้งเลขาศาล และเจ้าของสำนวนไปแล้ว พยายามพูดคุยกันตลอด และมีจุดตัดอยู่จุดหนึ่งว่าทำไมจำเลยจึงถอนทนาย และเราถอนออกมา มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปแจ้งศาลว่าอะไรเราไม่ทราบเพราะเราไม่ได้ยิน แล้วศาลแจ้งว่าจะตั้งละเมิดอำนาจศาล พอเราฟังก็งง คือบรรยากาศทั้งจำเลยและทนายกับราชทัณฑ์​ไม่แฮปปี้แล้ว พี่ทนายลุกขึ้นถามว่าเกิดอะไรขึ้น เราควรรับรู้ ท่านบอกจะดูวีดีโอ”

เยาวลักษ์เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้ต้องมีถอนทนายความในคดีนี้ ซึ่งจำเลยที่ 18 มาแถลงต่อศาลว่า ราชทัณฑ์เยอะมาก เขาเลยไปสะกิดให้หลบหน่อย ราชทัณฑ์คิดว่าตบไหล่ เลยมีเหตุแบบนี้ และมีกรณีที่ทนายความขอให้รุ้งจดข้อความ เขาก็จะดึงสมุดไป และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ กระชากแขนน้องทนายความ ทำให้บรรยากาศ ไม่ค่อยโอเค ทางทนายจึงยื่นคำร้องถอนทนาย การพิจารณาคดีไม่ใช่คดีลับ เราไม่มีโอากาสหารือกับจำเลยผู้ต้องขังที่เพียงพอ รวมถึงกรณีกับญาติ ก็มีปัญหา วันที่ 29 มี.ค.ให้ญาติจำเลยที่ต้องขังเข้าพิจารณาได้เท่านั้น ส่วนญาติที่ลูกได้ประกันตัวก็ให้เข้าคอนเฟอเรนซ์

“พี่แถลงต่อศาลว่า เราเสมือนอยู่เรือนจำในค่ายทหาร ท่านก็รับฟังนะ เราบอกว่าเหมือนอยู่ในคุกกวนตานาโมเลย ช่วงที่บอกละเมิดอำนาจศาล เรารู้สึกมีการใช้อำนาจศาลมาทำให้เราอึดอัดไม่สบายใจ จึงถอนทนายในคดีนี้”

ส่วนจำเลยในคดีนี้มี 22 คน ขอถอนทนายความ ยกเว้น นายปฏิวัติ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ที่ได้รับการประกันตัวไปแล้ว ทำให้เหลือ 21 คน คนที่ได้ประกันตัว เมื่อถอนทนายความ ก็มีสิทธิแต่งตั้งทนายใหม่ เพราะต้องมารายงานตัวต่อศาล

ส่วนจำเลยที่ต้องขัง 7 คน ก็ต้องมาหารือว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร อย่างที่นายอานนท์ นำภา ได้แถลงปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องดูว่า จะแต่งตั้งทนายอีกหรือไม่ จะไม่เข้าร่วมพิจารณาคดี แล้วให้ศาลตัดสินไปฝ่ายเดียวหรือไม่ คงต้องรอฟังท่าทีจากจำเลยทุกคน ในส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่า ไม่ได้ทิ้งลูกความ และยังว่าความในคดีอื่นๆ ให้กับกลุ่มราษฎร

เยาวลักษ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 เม.ย. 64 ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จะทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด ต่อศาลอาญา อีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าจะได้รับการแก้ปัญหาร่วมกัน

Related Posts

Send this to a friend