ทูตสหรัฐฯ ร่วมหารือปราบยาเสพติด ชมไทยออกมาตรการยึดทรัพย์
วันนี้ (8 มี.ค. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้การต้อนรับ นายโรเบิร์ต เอฟ.โกเดค เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ และหารือการปราบยาเสพติดร่วมกัน พร้อมกันนี้นายโรเบิร์ต ได้ชื่นชมประเทศไทย เกี่ยวกับการออกมาตรการยึดทรัพย์เครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด ช่วยตัดไฟตั้งแต่ต้นลม พร้อมขอบคุณการผลักดันกฎหมายป้องกันทรมาน
โดยงานนี้มี พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ,นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ,นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ร.ต.อ. ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย Ms.Rebecca Hunter ผู้ช่วยที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง Mr.Mark Snyder เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด Mr.Chris Cantell เจ้าหน้าที่สอบสวนกลาง ของสหรัฐอเมริกา เข้าร่วม ณ กระทรวงยุติธรรม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ นายโรเบิร์ต เอฟ.โกเดค เดินทางเข้ามาหารือข้อราชการ ถึงแม้จะเหลือเวลาทำงานในรัฐบาลไม่ถึง 1 เดือน แต่ก็ยืนยันว่าจะเดินหน้าความร่วมมือ ของทั้ง 2 รัฐบาลอย่างเต็มที่ ซึ่งตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่ง ได้ผลักดันกฎหมายจนสำเร็จไปแล้วกว่า 10 ฉบับ โดยมี 1 ฉบับ มีต้นแบบมาจากสหรัฐอเมริกา ก็คือ กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ที่ศึกษามาจาก เมแกน ลอว์ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2566 เพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม ด้วยการเฝ้าระวังบุคคลอันตราย ที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญ โดยภายหลังพ้นโทษ ต้องถูกเฝ้าระวัง ด้วยการใส่กำไลอีเอ็ม สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาโทษประหารชีวิตได้อีกด้วย เพราะจะช่วยลดการก่อเหตุรุนแรง ที่มีโทษประหารชีวิตลงได้
อีกหนึ่งความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ก็คือการปราบปรามยาเสพติด ที่ได้มีความร่วมมือกับ สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐอเมริกา (ดีอีเอ) จนเกิดการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ซึ่งก่อนตนมาเป็น รมต.ยึดทรัพย์เครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดได้น้อยมาก ไม่เกินปีละ 900 ล้านบาท แต่เมื่อตนผลักดันกฎหมายใหม่ ที่เน้นการยึดอายัดทรัพย์ เพื่อตัดวงจรการค้ายา ก็สามารถยึดอายัดทรัพย์ได้มากขึ้น อย่างปี 2564 ได้ถึง 7,300 ล้านบาท ปี 2565 ได้ถึง 11,000 ล้านบาท และปี 2566 ตั้งเป้า 1 แสนล้านบาท ซึ่ง 3 เดือนแรก สามารถยึดอายัดได้แล้ว 2 หมื่นล้านบาท โดยเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงิน การค้นทรัพย์ ที่ถือเป็นเรื่องใหม่และยากมาก เราก็ได้ความร่วมมือจากดีอีเอ เข้ามาช่วยในการค้นทรัพย์และแลกเปลี่ยนวิธีการ จนสามารถนำไปสู่การยึดทรัพย์ได้จำนวนมาก
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 แต่ได้มีการเลื่อนบังคับใช้บางมาตราออกไป 7 เดือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เตรียมเครื่องมือบันทึกภาพไม่ทัน ดังนั้นถ้ายังบังคับใช้ทุกมาตรา เจ้าหน้าที่บางรายที่ไม่มีกล้อง ก็อาจจะเป็นปัญหาในอนาคตได้ จึงมีการชะลอการใช้ไปก่อน ส่วนการดูแลผู้ประท้วงที่อดอาหาร กระทรวงยุติธรรม ก็ได้มีการหารือกับคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเห็นตรงกันว่า ให้ร่างกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ศาล สั่งผู้ที่ยังไม่ใช่นักโทษ มีสถานที่เก็บตัวที่ไม่ใช่เรือนจำได้ เพราะมองว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาเรื่องความเห็นต่าง หรือ การเมือง ไม่ควรนำไปรวมกับกลุ่มนักโทษเด็ดขาด
ขณะที่ นายโรเบิร์ต กล่าวว่า ขอขอบคุณนายสมศักดิ์ ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมขอขอบคุณความร่วมมือของทั้งสองรัฐบาล โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย จนเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ แต่จากนี้ก็อยากให้รัฐบาลไทย ช่วยหยุดยั้งยาบ้า ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั่วโลก ทางสหรัฐอเมริกา จึงอยากร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมของไทย เพื่อไม่ให้มีการค้ายาเสพติด หรือ ส่งออกสารตั้งต้น ส่วนมาตรการยึดทรัพย์ของกระทรวงยุติธรรม เห็นด้วยเพราะจะช่วยตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้ผู้ค้ายาเสพติด สามารถนำเงินไปหมุนเวียนกระทำความผิดได้ ดังนั้นจากนี้หากรัฐบาลไทย ต้องการความช่วยเหลือ เช่น การฝึกอบรมเฉพาะด้าน ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัญหายาเสพติด ไม่ใช่แค่ที่ไทยแต่เป็นปัญหาทั้งหมด
นายโรเบิร์ต กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณประเทศไทย ที่ผ่านกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ซึ่งสหรัฐอเมริกาพร้อมจะสนับสนุนให้ใช้ กฎหมายนี้อย่างเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการทรมานและอุ้มหาย พร้อมขอขอบคุณนายสมศักดิ์ ที่ไปเยี่ยมผู้ที่อดอาหารประท้วง ซึ่งสะท้อนว่าได้ให้ความสำคัญกับด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ขอขอบคุณความร่วมมือในทุกด้าน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรม ให้ความร่วมมือเป็นอย่างนี้ ทำให้ความร่วมมือจากนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นไป