CHINA

นักวิจัยจีน ยืนยันการค้นพบ ฟอสซิล ‘ไดโนเสาร์ปากเป็ด’ อายุกว่า 70 ล้านปี ที่กวางตุ้ง

นักวิจัยจากจีน ยืนยันการค้นพบ ฟอสซิล ‘ไดโนเสาร์ปากเป็ด’ อายุกว่า 70 ล้านปี ที่กวางตุ้ง บ่งชี้ถึงการอพยพของไดโนเสาร์อเมริกาเหนือในยุคครีเทเชียสตอนปลาย

คณะนักวิทยาศาสตร์ ยืนยันการค้นพบฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์ปากเป็ดมีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 70 ล้านปีก่อนในพื้นที่ตอนใต้ของจีน โดยสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่มีฟันมากชนิดนี้คาดว่าอพยพมาจากทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ นักล่าฟอสซิลมือสมัครเล่นชาวจีนได้พบเจอฟอสซิลบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในย่านไท่ผิงกั่ง เมืองซื่อฮุ่ย มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2009 และบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ส่วนการยืนยันผลครั้งนี้มาจากการศึกษาของคณะนักบรรพชีวินวิทยาจากจีนและแคนาดา

คณะนักวิจัยระบุในปี 2020 ว่า ฟอสซิลโครงกระดูกนี้ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนหลังและหาง กระดูกต้นแขน กระดูกเชิงกราน กระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง เชื่อว่าเป็นของไดโนเสาร์กลุ่มแลมบีโอซอริเน (Lambeosaurini) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของไดโนเสาร์กินพืชตระกูลแฮดโรซอรอยเดีย (Hadrosauroidea) ที่มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียส

ผลการศึกษาเผยแพร่ผ่านวารสาร Historical Biology เมื่อปลายเดือนมกราคม ระบุว่า ไดโนเสาร์ตระกูลแฮดโรซอรอยเดียมีลักษณะเด่นที่โครงสร้างปากคล้ายปากเป็ด มีฟันนับพันซี่เรียงเป็นระเบียบบนขากรรไกร โดยไดโนเสาร์กลุ่มแลมบีโอซอริเนมีโครงสร้างกะโหลกเป็นเอกลักษณ์ โดยมีโพรงจมูกแคบและกลวงช่วยให้สามารถเปล่งเสียงคล้ายแตรเพื่อใช้สื่อสารกัน

หวังตงฮ่าว นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) ผู้เขียนผลการศึกษาคนแรก กล่าวว่า คณะนักวิจัยพบเดือยกระดูกสันหลังที่ยาวและเล็กในฟอสซิล ซึ่งเป็นลักษณะที่หายากมาก แต่ฟอสซิลที่ค้นพบเป็นชิ้นกระดูกที่แยกจากกัน และไม่ได้อยู่ในสภาพดี ทำให้ขาดข้อมูลทางชีวภาพเกี่ยวกับโครงสร้างกะโหลก

คณะนักวิจัยประเมินว่า ซากฟอสซิลที่ค้นพบคาดว่าเป็นไดโนเสาร์ที่ยังไม่โตเต็มที่ มีความยาวราว 8 เมตร จัดอยู่ในกลุ่มย่อยของไดโนเสาร์แลมบีโอซอริเนที่อพยพจากทวีปอเมริกาเหนือกลับสู่ทวีปเอเชียผ่านช่องแคบแบริง มีกระดูกสันหลังที่สูงและแคบอันเป็นลักษณะร่วมของไดโนเสาร์อเมริกาเหนือ

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 68 สิงลี่ต๋า นักบรรพชีวินวิทยา ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่า ฟอสซิลนี้ถือเป็นหลักฐานแรกของไดโดนเสาร์กลุ่มแลมบีโอซอริเนในพื้นที่ตอนใต้ของจีน และเป็นหลักฐานเดียวที่บ่งชี้ความเป็นไปได้ในการอพยพของไดโนเสาร์อเมริกาเหนือมายังภูมิภาคนี้ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย

ที่มา: สํานักข่าวซินหัว

Related Posts

Send this to a friend