สายสัมพันธ์เศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม ‘จีน-ไทย’ ก้าวสู่ยุคทอง
สายสัมพันธ์เศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม ‘จีน-ไทย’ ก้าวสู่ยุคทอง
ความโด่งดังของภาพยนตร์ไทยสุดซึ้งอย่าง “หลานม่า” ที่สร้างกระแสฮือฮาเรียกน้ำตาบนแผ่นดินจีน ทำให้สถานที่ถ่ายทำอย่างตลาดพลูในกรุงเทพฯ กลายเป็นจุดเช็กอินยอดนิยมแห่งใหม่ในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน ขณะเดียวกันหัวข้อ “ดูซีรีส์จีนเพื่อเรียนภาษาจีน” เป็นที่กล่าวถึงทุกวันบนสื่อสังคมออนไลน์ไทย สะท้อนให้เห็นว่าผลงานละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์ของจีนและไทยได้ผูกโยงสายใยของการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่าน “การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม”
นายณ์ วัยรุ่นชาวไทยคนหนึ่ง เปิดเผยว่าเวลาดูซีรีส์แนวย้อนยุคและแฟนตาซีของจีน ทำให้รู้สึกเหมือนได้สัมผัสวัฒนธรรมจีน โดยซีรีส์จีนหลายเรื่องได้รับความนิยมล้นหลาม เช่น ปรมาจารย์ลัทธิมาร และเล่ห์รักวังต้องห้าม ส่วนสินค้าที่เกี่ยวข้องอย่างหนังสือ เสื้อผ้า และของที่ระลึกขายดีเช่นเดียวกัน
สวีเจี้ยนหัว เจ้าของร้านอาหารไทยในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน กล่าวว่าละครไทยอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ทำให้มีร้านอาหารไทยเปิดใหม่ในหลายเมืองของจีน การรับประทานอาหารไทย ดื่มชานมไทย และถ่ายรูปสไตล์ไทยในสตูดิโอกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของผู้บริโภคชาวจีน
ขณะการแลกเปลี่ยนด้านละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์ระหว่างจีนกับไทยเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่การซื้อขายลิขสิทธิ์หรือการถ่ายทำในต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังขยับขยายสู่การสร้างและผลิตผลงานร่วมกันอีกด้วย โดยเฉพาะการเสริมสร้างจุดแข็งทางเทคนิคซึ่งกันและกัน
นอกจากละคร ซีรีส์ และภาพยนตร์แล้ว รสชาติหอมหวานของ “เศรษฐกิจอาหารจีน-ไทย” ดึงดูดใจไม่แพ้กัน โดยแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ทางรถไฟจีน-ลาว ระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ ฝั่งตะวันตก และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ล้วนส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างจีนกับไทย
ถานเจียฝู ผู้จำหน่ายผลไม้อาเซียนในกว่างซี บอกว่าลำไยจากสวนในไทยถูกขนส่งถึงโรงงานแปรรูปในวันเดียวกันและขนส่งเข้าสู่จีนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว รวมถึงด่านบกอีกหลายแห่ง โดยระยะเวลาขนส่งที่สั้นลงมากช่วยให้ผลไม้สดใหม่ถึงมือผู้บริโภคชาวจีนเร็วยิ่งขึ้น นำสู่ผลประกอบการที่ดีขึ้นตามไปด้วย
อนึ่ง ข้อมูลสถิติจากศุลกากรเมืองหนานหนิงของกว่างซีระบุว่าปริมาณการส่งออกส้มจากกว่างซีสู่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2024 สูงถึง 1.94 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งส่งออกสู่ไทย 8,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.3 เมื่อเทียบปีต่อปี
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และทั้งสองประเทศต่างเป็นคู่ค้ารายสำคัญของกันและกัน ขณะปี 2025 ถือเป็นปีสำคัญของสองประเทศ เนื่องจากตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย และ “ปีทองแห่งมิตรภาพจีน-ไทย”
ข้อมูลจากหน่วยงานศุลกากรของจีนเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ระบุว่าปริมาณการค้าจีน-ไทย ปี 2024 อยู่ที่ราว 1.34 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.53 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ระบุว่าจีน (ยกเว้นฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน) เป็นแหล่งลงทุนจากต่างชาติขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในไทย มีการยื่นขออนุมัติการลงทุน 810 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 1.75 แสนล้านบาท
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รายงานว่าการลงทุนของบริษัทผู้ประกอบการจีน (นับรวมไต้หวัน) ในนิคมอุตสาหกรรมของไทย ปี 2024 เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.1 เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท และจำนวนบริษัทผู้ประกอบการจีนที่ดำเนินงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของไทย ปี 2024 รวมอยู่ที่ 203 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 133 แห่งในปี 2023
ที่มา: สำนักข่าวซินหัว