BANGKOK

กทม.จับมือการไฟฟ้านครหลวง จัดระเบียบสายสื่อสาร

กทม.จับมือการไฟฟ้านครหลวง จัดระเบียบสายสื่อสาร ถนนเจริญกรุง เตรียมดำเนินการต่อที่ศาลาแดง และสุขุมวิท

วันนี้ (26 มิ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร หน้าโรบินสัน บางรัก ว่าการเอาสายสื่อสารลงดินมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งในแง่ของการลงทุนและกระบวนการต่าง ๆ โดยมี 2 รูปแบบ คือ การไฟฟ้านครหลวงหักเสาแล้วนำสายไฟลงดิน ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งสายที่รกรุงรังไม่ใช่สายไฟฟ้าแต่เป็นสายสื่อสาร โดยการไฟฟ้านครหลวงมีแผนนำสายไฟฟ้าลงดินกว่า 230 กิโลเมตร แล้วสายสื่อสารจะตามลงไปด้วย กทม.ก็มีแผนนำสายไฟฟ้าลงดินกว่า 2,000 กิโลเมตรเช่นเดียวกัน

สำหรับอีกส่วน คือ การตัดสายสื่อสารให้เป็นระเบียบ ใช้งบประมาณต่ำและทำได้เร็วกว่า จึงเริ่มทำที่กระบวนการนี้ก่อน ต้องใช้งบประมาณและระยะเวลา เนื่องจากการทำงานไม่ใช่ว่าจะนำกรรไกรมาตัดได้เลย มีเรื่องสายสื่อสารอยู่ในการควบคุมของ กสทช. เสาไฟฟ้าเป็นของการไฟฟ้านครหลวง และตัวสายสื่อสารเป็นของผู้ประกอบการ Operator ต่าง ๆ

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้ได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง ในการลงทะเบียนสายสื่อสารใหม่ให้เป็นระเบียบก่อนจะพาดสายสู่เสาไฟฟ้า ทำให้ทราบว่าสายดังกล่าวเป็นของผู้ประกอบการรายใด ที่ผ่านมามีการพาดสายสื่อสารโดยไม่ได้ขออนุญาต แต่คราวนี้จะชัดเจนขึ้นและทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะถนนเจริญกรุง คาดว่าจะตัดสายสื่อสารหมดประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ต่อจากนั้นจะดำเนินการต่อที่ศาลาแดง ถนนคอนแวนต์ ซอยพิพัฒน์ ส่วนต่อไป คือ ถนนสุขุมวิท ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วที่ซอย 13 และช่วงเดือนหน้าจะดำเนินการที่ซอย 11, 15, 17, 19 และ 36

นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น ซึ่งในปีแรกช้าในเรื่องของการประสานงาน แต่ในปีนี้จะเห็นความคืบหน้าอย่างมาก และจะเพิ่มเส้นทางให้มากขึ้น ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง มีแผนจัดระเบียบสายสื่อสารเป็นระยะทางทั้งสิ้น 450 กิโลเมตร รับผิดชอบติดตั้งคอนสายสื่อสารเพื่อยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ควบคุมให้ติดตั้งสายสื่อสารตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า รวมถึงจะมีการบันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ สอดคล้องกับการเพิ่มไฟฟ้าแสงสว่างทั้งเมืองกว่าแสนดวง โดยเปลี่ยนเป็นหลอด LED รวมถึงเสาไฟฟ้ายังสามารถควบคุมความสว่างด้วยระบบ lot ได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของ Smart City อีกด้วย

Related Posts

Send this to a friend