BANGKOK

คมนาคม จับมือ กทม. ป้องกัน PM2.5 เชิงรุก

คมนาคม จับมือกรุงเทพมหานคร ป้องกัน PM2.5 เชิงรุก จัดชุดเฉพาะกิจออกตรวจควันดำ-ไซต์ก่อสร้าง ผุดแนวคิดเปลี่ยนรถเมล์เป็นรถไฟฟ้า นำร่องทำบัสเลน

วันนี้ (20 พ.ย. 66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก แถลงข่าวการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นบะออง PM 2.5

นายสุรพงษ์ คาดว่าสถานการณ์ PM 2.5 ปีนี้จะรุนแรงเพราะเข้าสู่ภาวแล้งผิดปกติ สาเหตุของการเกิด PM 2.5 ในพื้นที่ชนบทจะมาจากภาคการเกษตรที่เผาไร่ไฟไหม้ป่า ทำให้อากาศไหลมารวมที่กรุงเทพฯ จากสถิติย้อนหลังพบว่าแหล่งที่มาของฝุ่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อยละ 61 เกิดจากภาคคมนาคมขนส่ง ดังนั้นจึงต้องจับมือกรุงเทพมหานครดำเนินการมาตรการเชิงรุก เช่น ตรวจตรวจสภาพรถที่มีอายุเกิน 7 ปี จัดสภาพพื้นผิวจราจรตามแนวโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีต่าง ๆ ด่านเก็บเงินที่มีรถแออัด ช่วงเวลาปล่อยรถหนัก-รถเบา และควบคุมไซต์งานก่อสร้าง

นายจิรุตม์ กล่าวถึงมาตรการที่ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ตรวจควันดำรถบรรทุกและตรวจแพล้นท์ปูนในไซต์งานก่อสร้าง ส่งชุดตรวจการของกรมการขนส่งทางบกไปดูแลทางเข้าออกที่ไซต์ก่อสร้าง มีชุดเฉพาะกิจตรวจสอบสถานตรวจสอบรถเอกชน (ตรอ.) ในกรุงเทพฯ ทั้ง 233 แห่ง ตรวจสอบรถโดยสารประจำทางหมวด 1 ที่อู่รถ ขสมก. ทั้ง 8 แห่ง สถานีขนส่งกรุงเทพฯ ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ หมอชิต รังสิต เอกมัย และสายใต้

ส่วนการตรวจวัดควันดำเชิงรุกจะส่งผู้ตรวจการ 16 ชุดออกตรวจสอบควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จัดตั้งชุดตรวจ เคลื่อนที่เร็วดูแลในพื้นที่ที่มี PM 2.5 สูงเกินกำหนด จัดชุดเฉพาะกิจให้คำแนะนำเชิงรุก เพื่อป้องกันการปล่อยควันดำของรถโดยสารไม่ประจำทาง ตรวจสอบรถทัวร์ ณ สถานประกอบการทั่วประเทศ พร้อมทั้งลดจำนวนรถบรรทุก และรถโดยสารเข้าเขตเมืองชั้นใน โดยให้บริการตรวจสภาพรถที่สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า

มาตรการทางราง ดำเนินการตามนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ส่งเสริมให้คนทิ้งรถไว้ที่บ้าน และใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน โดยมีแผนดำเนินการตั๋วร่วมในสายสีแดง และสายสีม่วง จับมือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำชับผู้รับจ้างให้คืนพื้นผิวจราจร ทำความสะอาดล้อรถบรรทุก ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้าง ส่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีแผนบริหารการจราจรติดขัดท่่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ โดยในสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันฝุ่นละออง ปล่อยละอองน้ำแรงดันสูงเพื่อลดฝุ่นหน้าด่าน รวมทั้งฉีดล้างทำความสะอาดบริเวณผิวจราจรและหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษด้วย

นายชัชชาติ กล่าวว่ากรุงเทพมหานครไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง แต่ต้องร่วมมือกับหลายฝ่าย ยกตัวอย่างร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … ที่กฤษฎีกาตีความว่าไม่ใช่อำนาจของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงต้องร่วมมือกัน เช่น โครงการรชสนับสนุนให้รถดีเซลเก่าเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง เพื่อลดการปล่อย PM 2.5 ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องค่าโดยสาร 20 บาท กรุงเทพมหานครจะเน้นระบบฟีดเดอร์ และรถเมล์เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมทำบัสเลนในพื้นที่นำร่อง เช่น ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

Related Posts

Send this to a friend