BANGKOK

‘ชัชชาติ‘ ไม่โทษประเทศเพื่อนบ้านเป็นต้นเหตุ PM 2.5

มองเป็นเรื่องบวก ‘เศรษฐา‘ ถกแก้ฝุ่นกับนายกฯ กัมพูชา เผยคุยกับ ‘พัชรวาท’ เรื่องฝุ่นตลอด

วันนี้ (6 ก.พ.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

นายชัชชาติ เปิดเผยถึงต้นตอของฝุ่น PM 2.5 ใน กทม. 57% มาจากรถยนต์ดีเซล 16% มาจากฝุ่นทุติยภูมิจำพวกก่อสร้าง 15% มาจากการเผาในที่โล่ง 8% มาจากรถยนต์เบนซิน โดยจากการวิเคราะห์พบว่า กทม.ได้รับผลกระทบจากฝุ่นนอกพื้นที่ กทม.และปริมณฑลกว่า 42% 22% ได้รับผลกระทบจากการจราจร 16% มาจากการเผาในที่โล่ง 15% มาจากอุตสาหกรรม 4% มาจากฝุ่นถนน

ขณะที่จุดเผา (Hot Spot) ในประเทศเพื่อนบ้านพบมากขึ้นกว่าปีก่อน โดยปี 66 พบจุดเผา 25,856 จุด ปีนี้เพิ่มขึ้น 93% เป็น 49,983 จุด ส่วนจุดเผาในประเทศปีนี้ลดลงกว่า 46% เหลือ 3,252 จุด จาก 5,981 จุด โดยจุดเผาใน กทม.ปีนี้พบเพียงจุดเดียว จากปีก่อนที่พบ 5 จุด

สำหรับมาตรการลดฝุ่น 365 วัน กทม.ทำไปแล้วมากกว่า 30 เรื่อง อาทิ ตรวจรถยนต์ควันดำไปแล้ว 297,935 คัน แก้ไข 3,079 คัน ตรวจสถานประกอบการ 12,380 ครั้ง แก้ไขแล้ว 8 แห่ง ตรวจสถานที่ก่อสร้าง 5,111 ครั้ง แก้ไขแล้ว 34 แห่ง รถเปลี่ยนไส้กรองอากาศแล้ว 168,442 คัน พร้อมทั้งซื้อรถอัดฟาง 3 คัน งบประมาณ 3.6 ล้านบาท มอบให้เกษตรกรในหนองจอก เพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่ง

นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือประกาศ Work From Home ในช่วงฝุ่นวิกฤต 136 แห่ง มีพนักงานเข้าร่วม 53,545 คน โดยเกณฑ์การประกาศ Work From Home จะต้องพบพื้นที่ค่าฝุ่นสีแดงต่อเนื่อง 3 วันใน 15 เขตของ กทม. หรือเป็นพื้นที่ กทม.ตะวันออก (ต้นลม) 7 เขต ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีสถานการณ์นี้

ในช่วงวิกฤตฝุ่น ปลัดกรุงเทพมหานครได้สั่งการสำนักงานเขตพิจารณานำแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ปรับใช้ตามสถานการณ์ สามารถกำจัดต้นตอของเหตุรำคาญได้ และยังนำร่องห้องเรียนปลอดฝุ่นใน 61 โรงเรียนด้วย

นายชัชชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะหารือบูรณาการแก้ปัญหา PM 2.5 ร่วมกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.67) เชื่อว่ารัฐบาลมีข้อมูลฝุ่นอยู่แล้ว ส่วนตัวได้พูดคุยกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอด ท่านเข้าใจสถานการณ์ กทม.ไม่ได้รับผลกระทบเพียงจังหวัดเดียว แต่มีอีก 40 จังหวัดที่ค่าฝุ่นสูง ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้บูรณาการร่วมกัน

“ผมไม่โทษใคร เพราะเราก็สร้างฝุ่นเอง ขอให้เอาความจริงมาพูดกัน ผมว่าการพูดคุยในวันพรุ่งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกัน มองในทางบวก เราไม่ได้โทษว่ากัมพูชาเป็นต้นเหตุ แต่การแก้ปัญหาต้องทำทุกอย่างไปพร้อมกัน”

ทั้งนี้ยังพบแนวโน้มของผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผื่นผิวหนังใน กทม.เพิ่มมากขึ้น จึงได้ร่วมมือกันระหว่างกรมอนามัย สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จัดให้มีคลินิกมลพิษฃรักษากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

นายชัชชาติ ยังกล่าวว่าฝุ่นไม่ใช่แค่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์ และต้นทุนการผลิต จึงต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมายเข้ามาบังคับด้วย นอกจากนี้ยังมีวาระแห่งชาติ อย่างการย้ายท่าเรือคลองเตย เนื่องจากมีตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาปีละประมาณ 1 ล้านตู้ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซและการจราจรติดขัด หากมีการย้ายไปที่แหลมฉบังได้ แล้วเอามาทำพื้นที่สีเขียว ใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น ก็จะช่วยลดฝุ่นได้

นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ในฐานะผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่าปัญหาที่กัมพูชากำลังได้รับผลกระทบ เป็นปัญหาที่เกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งเหมือนกับที่ประเทศไทยพบอยู่ เห็นได้จากข้อมูลดาวเทียมที่พบว่าบริเวณกัมพูชาเป็นจุด Hot Spot ที่มีฝุ่นอยู่จำนวนมาก และที่เป็นผลกระทบต่อประเทศไทย ที่เกิดจากทิศทางและความเร็วลม ซึ่งไทยนั้นอยู่ในจุดใต้ลม

นายพันศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าเป็นความคิดของรัฐอยู่แล้วที่จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหา และได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน ที่ผ่านมาจึงได้มีการทำยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR SKY Strategy) ที่มีความร่วมมือจากประเทศไทย เมียนมา และลาว ซึ่งยังไม่มีกัมพูชาเข้าร่วม แต่ได้มีความคิดที่จะตั้งคณะกรรมการร่วมของทั้ง 2 ฝ่ายขึ้น และจะนำกัมพูชาเข้ามาร่วมกับยุทธศาสตร์ฟ้าใสต่อไปในอนาคต คิดว่าจะสามารถเริ่มได้ทันที หลังจากการประชุมในวันที่ 7 ก.พ.นี้

นอกจากกัมพูชาแล้ว ลาวและเมียนมา ก็ยังเป็นพื้นที่ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะอยู่ในช่วงฤดูเผา ทางฝั่งเหนือจะเริ่มตั้งแต่ ก.พ. – มี.ค. ที่จะเป็นช่วงที่เกิดปัญหาหนักที่สุด จึงต้องใช้ความร่วมมือร่วมกันต่อไป ซึ่งยุทธศาสตร์ฟ้าใส ได้เดินหน้าปฏิบัติการไปแล้ว มีการวางแผนปฏิบัติการร่วม จัดแผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเกษตรในพื้นที่สูง ประเทศไทยเองมีประสบการณ์มากกว่า และจะแชร์ประสบการณ์นี้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ทำตามกันต่อไป

ในพื้นที่ กทม.เป็นพื้นที่ประสบปัญหา PM 2.5 ก่อนพื้นที่อื่น ซึ่งเจอปัญหามาตั้งแต่ช่วงปลายปี ต่อเนื่องมาจนถึงเดือน มี.ค. ซึ่งผลเกิดมาจากใน กทม.เอง และเกิดจากสภาพอากาศที่จมตัว ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ประกอบกับการเผาในพื้นที่จังหวัดโดยรอบ ซึ่งในช่วง 2-3 วันนี้ฝุ่นได้ลดน้อยลงแล้ว แต่ยังมีความเป็นห่วงในช่วงวันที่ 9 ก.พ.นี้ อาจเกิดภาวะความกดอากาศ ทำให้ลมมีการเปลี่ยนทิศเป็นลมทางตะวันออก ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเผาของพื้นที่โดยรอบจากทางฝั่งตะวันออก

Related Posts

Send this to a friend