BANGKOK

‘ชัชชาติ’ สั่งคุมเข้มความปลอดภัยคืนลอยกระทง ปิ๊งไอเดียลอยอิเล็กทรอนิกส์ที่คลองโอ่งอ่าง

‘ชัชชาติ’ สั่งคุมเข้มความปลอดภัยคืนลอยกระทง ปิ๊งไอเดียลอยอิเล็กทรอนิกส์ที่คลองโอ่งอ่าง เปิดลอยปัญหาออนไลน์ผ่าน Traffy Fondue

วันนี้ (20 พ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงของกรุงเทพมหานครว่า จะเน้นเรื่องความปลอดภัย ทั้ง คลองโอ่งอ่าง คลองผดุงกรุงเกษม และที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือคนเข้า-ออกในพื้นที่ไม่ให้มีจำนวนเกิน ความปลอดภัยของท่าเรือ โป๊ะ สวนสาธารณะ ทั้ง 34 แห่งที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทง ซึ่งหน่วยงานได้แบ่งกันตรวจความพร้อมตามที่รับผิดชอบแล้ว เช่น เทศกิจดูแลความปลอดภัย สำนักสิ่งแวดล้อมดูแลการจัดเก็บกระทง สำนักการจราจรและขนส่งดูแลความปลอดภัยของท่าน้ำ สำนักการแพทย์ดูแลเรื่องฉุกเฉิน สำนักการระบายน้ำ เริ่มปล่อยน้ำเข้ามายังคลองต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าคุณภาพน้ำดีขึ้น และเขตดูแลเรื่องการจัดกิจกรรม โดยได้กำชับให้จัดกิจกรรมโดยต้องทำให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์ การขายของในงานต้องให้คนในชุมชนก่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

เรามีบทเรียนจากเหตุการณ์อิแทวอน เกาหลีใต้ ต้องดูแลทางเข้า-ออก จึงได้เตรียมรูปแบบไว้ให้มีทางเข้า-ออกชัดเจน มีการประสานงานหากมีคนเข้ามามากก็ต้องหยุด ป้องกันการแออัดและป้องกันการเบียดกันจนตกน้ำ โดยเฉพาะคลองโอ่งอ่างที่มีพื้นที่แคบกว่าที่อื่น ซึ่งต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยก่อนเรื่องอื่น สำหรับเรื่องการตรวจอาวุธ ได้ประสานกับตำรวจร่วมดูแล และสแกนโลหะแล้ว

จากสถิติการจัดเก็บกระทงในปี 2565 พบเป็นกระทงธรรมชาติร้อยละ 95.7 และกระทงโฟม ร้อยละ 4.3 ปีนี้ได้กำชับให้เร่งจัดการขยะ ภายในเวลา 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้นต้องเก็บให้หมด ไม่ปล่อยให้เน่าอยู่ในลำน้ำ หากเป็นกระทงธรรมชาติจะแยกไปทำปุ๋ยหมัก ส่วนกระทงโฟมจะถูกส่งไปกำจัดให้ถูกวิธี เชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น จะทำให้จำนวนกระทงมากขึ้นด้วย แต่หากเป็นไปได้อยากให้ประชาชนลอยกระทงแบบออนไลน์เพื่อประหยัดเวลาเดินทาง

เราจะเน้นลอยกระทงอิเล็กทรอนิกส์ จะจัดที่คลองโอ่งอ่าง และการเปิดให้ลอยกระทงผ่านระบบ Traffy Fondue หากมีเรื่องที่อยากให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครดำเนินการ หรือมีเรื่องร้องเรียนก็ให้ลอยเป็นกระทงมาให้ผู้บริหารทราบ เพื่อส่งต่อไปยังเขตหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไข ปรับปรุงให้เป็นรูปธรรม

โดยในที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร วันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการระบายน้ำ สำนักการแพทย์ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และสำนักงานประชาสัมพันธ์ ได้รายงานมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทงของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย มาตรการก่อนลอยกระทง อาทิ การออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 การตรวจสถานที่ผลิต สะสม จำหน่ายพลุ และการตรวจท่าเทียบเรือ โป๊ะ มาตรการในวันลอยกระทง อาทิ การจัดส่งเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกตามสถานที่ลอยกระทง การตั้งจุดกองอำนวยการตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป 2 จุด คือใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) และคลองโอ่งอ่าง การจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดท่าเรือ โป๊ะ จุดละ 2 นาย พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต การดูแลความปลอดภัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยจัดให้มีเรือดับเพลิง ขนาด 38 ฟุต เรือท้องแบน เจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำ เรือตรวจการณ์ ดูแลตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 มาตรการหลังวันลอยกระทง ได้แก่ การรายงานการจัดเก็บขยะ จำนวนกระทง และรายงานผลอุบัติภัย

ส่วนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงในปีนี้ สำนักงานประชาสัมพันธ์ จะรณรงค์ภายใต้แนวคิด 3 ปลอด คือ

1.ปลอด…จากวัสดุไม่ธรรมชาติ 100% 2.ปลอด…จากประทัด โคมลอย พลุ 3.ปลอด…อันตรายจากโป๊ะ-ท่าเรือไม่แข็งแรง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

Related Posts

Send this to a friend