กทม.นำสถานทูตออสเตรเลียและคณะ เยี่ยมชมพื้นที่ปลูกป่านิเวศอ่อนนุช

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นางสาวคริสติน ทิลลี่ ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย และดร.แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เยี่ยมชมพื้นที่ปลูกป่านิเวศอ่อนนุช เพื่อความร่วมมือพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมดี
ในโอกาสติดตามการดำเนินโครงการ พัฒนาศูนย์กลางของเมืองและบริเวณโดยรอบ ให้มีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (Resilient Urban Centres and surrounds) หรือ RUCaS โดย มีนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ และคณะผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ
นายวิศณุ ได้กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุป ถึงการดำเนินงานตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ซึ่งได้ดำเนินการภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เป็นการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างกรุงเทพมหานคร และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชให้เป็นป่านิเวศ เพื่อช่วยดูดซับมลพิษและกลิ่นจากโรงงานต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ซึ่งจะช่วยทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมของศูนย์ฯ และชุมชนใกล้เคียงดีขึ้น โดยมีเป้าหมายการดำเนินการ ปลูกกล้าไม้ยืนต้นชนิดต่างๆ อาทิ ยางนา ตะเคียนทอง พะยอม พะยูง มะค่าโมง มะกล่ำต้น มะเดื่อ นนทรีป่า รวมจำนวน 45,000 ต้น ภายในปี 2566 จากนั้นจะมีการดูแลและติดตามการเจริญเติบโต ของกล้าไม้ที่ปลูกไปแล้วทุก 6 เดือน โดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆไปใช้ในทางวิชาการต่อไป
ทั้งนี้โครงการพัฒนาศูนย์กลางของเมืองและบริเวณโดยรอบ ให้มีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (Resilient Urban Centres and Surrounds) หรือ RUCaS เป็นโครงการความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ริเริ่มโดยกระทรวงการต่างประเทศ และการค้าออสเตรเลีย (Australian Government’s Department of Foreign Affairs and Trade: DFAT) และดำเนินการโดยองค์การ Water Sensitive Cities Australia โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน การใช้แนวทางธรรมชาติ (Nature-based Solutions) หรือ NbS แบบบูรณาการสำหรับการแก้ปัญหา
อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศในเขตเมือง สาธิตการนำแนวทางธรรมชาติ มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดผลในวงกว้าง ส่งเสริมความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดการสืบทอด แนวคิดดังกล่าวอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างศักยภาพ ในการใช้เครื่องมือประเมินทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้จากการพิจารณาร่วมกัน ระหว่างผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ และผู้แทนกรุงเทพมหานครได้คัดเลือกโครงการของกรุงเทพมหานคร ที่เหมาะสมที่จะเป็นกรณีศึกษาของโครงการ RUCas ได้แก่ โครงการปรับปรุงแก้มลิงบึงมักกะสัน (ส่วนที่ 1) (รับผิดชอบโดยสำนักการระบายน้ำ) และโครงการฟื้นฟูบ่อขยะให้กลายเป็นสวนป่าเชิงนิเวศ บริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ (รับผิดชอบโดยสำนักสิ่งแวดล้อม)