BANGKOK

รองผู้ว่าฯ กทม.แถลงภาพรวมยกระดับ การศึกษาและการเรียนรู้เด็กปฐมวัยในสังกัด ครอบคลุม 6 ด้าน

(12 ก.ย. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และ นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา แถลงข่าวเรื่องการยกระดับการศึกษา และการเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วง 2-6 ขวบ ในกรุงเทพมหานคร และแนวทางการจัดการศึกษา ภายใต้งบประมาณ ปีงบประมาณ 2567 ณ ห้องปัญญพัฒน์ ชั้น 4 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

นายศานนท์ กล่าวว่า ห้องปลอดฝุ่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วง 2-6 ขวบ ในกรุงเทพมหานคร ในวันนี้จึงเป็นการมาชี้แจงและให้รายละเอียดในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ภาพรวมเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การเพิ่มจำนวนนักเรียน ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร การจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล การพัฒนากายภาพสถานศึกษา การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาปฐมวัย และการปลดล็อกข้อจำกัดและลดภาระครู

1.ภาพรวมเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สำหรับปีการศึกษา 2566 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีเด็กอายุ 0-6 ปี ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร จำนวน 259,264 คน เป็นเด็กในการดูแลของกรุงเทพมหานคร 82,990 คน (ประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนเด็กในพื้นที่กรุงเทพฯ) โดยแบ่งได้เป็น นักเรียนอนุบาล โรงเรียนสังกัด กทม. 429 โรงเรียน (อายุ 4-5 ปี) 38,499 คน นักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนสังกัด กทม. 431 โรงเรียน (อายุ 6 ปี) 26,945 คน เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สำนักพัฒนาสังคม 274 แห่ง (อายุ 2-5 ปี) 17,213 คน เด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ศูนย์บริการสาธารณสุข 12 แห่ง สำนักอนามัย (อายุ 2.5-5 ปี) 218 คน และเด็กในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ โรงพยาบาล กทม. 8 แห่ง สำนักการแพทย์ (อายุ 2.5-5 ปี) 115 คน

2.การเพิ่มจำนวนนักเรียน ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครตั้งเป้าในการเพิ่มจำนวนเด็ก เพื่อให้เราสามารถดูแลได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งสำนักการศึกษาเป็นหน่วยงาน ที่มีความพร้อมมากที่สุดในตอนนี้ จึงมีแผนขยายโดยเริ่มรับตั้งแต่อนุบาล 1 ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จากการสำรวจพบว่า มีโรงเรียนตอบรับการขยายชั้นเรียนมากถึง 189 โรงเรียน ซึ่งคาดว่าจะทำให้โรงเรียน กทม. มีเด็กเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7,000 คน ในปีการศึกษา 2567 (เดือนพฤษภาคม) เนื่องจากโรงเรียน กทม. เรียนฟรี มีอาหารเช้า กลางวัน และนมฟรีให้เด็ก ๆ ครบถ้วน สามารถช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง และเด็กจะสามารถได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สำนักพัฒนาสังคม อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมแผนที่จะรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เข้ามาในอนาคต

3.การจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล

ด้าน “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่ 48 พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ซึ่งจะมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 1,743 เครื่อง (ได้รับงบประมาณในส่วนของงบครุภัณฑ์ 52.11 ล้านบาท) รวมถึงจะมีการปรับปรุงห้องเรียนใน 429 โรงเรียน รวม 1,743 ห้องเรียน โดยจะมีการซีลห้อง (ปรับปรุงห้องเรียนระบบเปิดให้เป็นระบบปิด) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศและพัดลมระบายอากาศ นำร่องด้วยห้องเรียนของนักเรียนชั้นอนุบาลซึ่งเป็นวัยที่สมองกำลังเรียนรู้และเติบโต รวมถึงไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้สะดวก จำนวนนักเรียนรวม 36,891 คน ตั้งงบประมาณไว้ที่ 219 ล้านบาท เฉลี่ยใช้เงิน 125,874 บาทต่อหนึ่งห้องเรียน เพื่อการดูแลสุขภาพของเด็กนักเรียนในระยะยาว

ทั้งนี้แนวทางในการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น (ห้องเรียนขนาดเฉลี่ย 49-64 ตารางเมตร) ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 Positive Pressure ซีลห้องเป็นระบบปิด ติดตั้งเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์ โดยร่วมกับ “ไทยพีบีเอส” และ “ภาคีรวมพลังสู้ฝุ่น” และแนวทางที่ 2 ใช้แอร์ และโซลาร์เซลล์ โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องวัดอากาศ รวมถึงติดตั้งโซลาร์เซลล์และเครื่องกรองอากาศ ซึ่งสามารถติดตามผลฝุ่นหรือคาร์บอนที่ลดได้ โดยร่วมกับ “เอกชน” ในรูปแบบของ CSR โดยหากภาคเอกชนสนใจที่จะร่วมทำ CSR ปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นกับทางกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อได้ที่สำนักการศึกษา โทร. 0 2437 6631 ในวันและเวลาราชการ

ในส่วนของแนวทางการเลือกเครื่องปรับอากาศ มีดังนี้ ขนาดไม่ต่ำกว่า 30,000 btu จำนวน 2 เครื่อง ต่อห้องเรียนขนาด 49 – 64 ตารางเมตร ความสูง 3.5 เมตร คำนวณจากค่าเฉลี่ยของห้องเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม. ตามปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ขนาดของห้องและค่า Cooling load หรือค่าความร้อนที่เกิดขึ้นภายในแต่ละห้อง คือ เป็นห้องเรียนที่มีเด็กนักเรียนอยู่จำนวนมาก และเปิดใช้งานในเวลากลางวัน แสงแดดส่องถึง โดยเลือกเป็นระบบ Inverter เนื่องจากประหยัดไฟได้มากกว่าปกติถึง 30% และทำงานเงียบกว่าแอร์ธรรมดา จึงไม่รบกวนสมาธิเวลาเรียน และการนอนกลางวันของเด็ก

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีโครงการ เพื่อลดค่าไฟโรงเรียนในระยะยาว ซึ่งจะร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงเรียน โดยจะมีการสำรวจการใช้พลังงานไฟฟ้า ออกแบบและลงทุนติดตั้ง ระบบพลังงานทดแทน รวมถึงประเมินส่วนลดค่าไฟฟ้าด้วย ซึ่งจะเป็นโครงการที่จะทำต่อเนื่องต่อไป

สำหรับการคำนวณค่าไฟ ได้วางแนวทางไว้ 3 กรณี

1.เปิดช่วงนอนกลางวัน 2 ชั่วโมง คิดเป็น 12.48 บาทต่อวันต่อเครื่อง 2,995.2 บาทต่อปีต่อเครื่อง 2.เปิดช่วงวิกฤตฝุ่นครึ่งวัน 4 ชั่วโมง คิดเป็น 24.96 บาทต่อวันต่อเครื่อง 5,990 บาทต่อปีต่อเครื่อง 3.เปิดช่วงวิกฤตฝุ่นเต็มวัน 8 ชั่วโมง คิดเป็น 49.92 บาทต่อวันต่อเครื่อง 11,980.8 บาทต่อปีต่อเครื่อง

ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้รับงบประมาณ (งบอุดหนุน) เป็นค่าจัดการเรียนการสอนอยู่ที่ประมาณ 640 ล้านบาท โดยมีกรอบค่าไฟให้ใช้ไม่เกิน 40% และปัจจุบันเราใช้แค่ประมาณ 172.24 ล้านบาท หรือประมาณ 27% ดังนั้น ในการวางแผนติดแอร์ จึงเป็นการวางแผนให้สามารถบริหารจัดการค่าไฟไม่ให้เกินกรอบที่ได้รับเงินอุดหนุนนี้

4.การพัฒนากายภาพสถานศึกษา

ในส่วนของการพัฒนากายภาพสถานศึกษา ประกอบด้วย 2 นโยบาย คือ นโยบายที่ 99 การพัฒนาศูนย์เด็กอ่อน เด็กเล็กใกล้ชุมชน ใกล้แหล่งงาน และนโยบายที่ 71 การเพิ่มสวัสดิการครูให้เหมาะสม กล่าวโดยภาพรวม การพัฒนากายภาพโรงเรียนคือการปรับปรุง ก่อสร้าง และซ่อมแซม โดยปรับปรุงโรงเรียน 218 รายการ เช่น การก่อสร้างหลังคาเหล็กขนาดใหญ่ หลังคาคลุมทางเดิน แผงบังแดดบังน้ำฝน สร้างสนามฟุตบอล การปรับพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก การปรับปรุงอาคารเรียนทั้งหลัง โรงครัว ระบบไฟฟ้า เป็นต้น

ก่อสร้างอาคารเรียน 9 รายการ ได้แก่
1.โรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม สำนักงานเขตทวีวัฒนา
2.โรงเรียนรุ่งเรืองอุปถัมภ์ สำนักงานเขตบางนา
3.โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์ สำนักงานเขตหนองจอก
4.โรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม สำนักงานเขตคลองสาน
5.โรงเรียนคลองปักหลัก สำนักงานเขตประเวศ
6.โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ (บุญมีอนุกูล) สำนักงานเขตคลองสามวา
7.โรงเรียนวัดลานบุญ สำนักงานเขตลาดกระบัง (อาคารอเนกประสงค์)
8.โรงเรียนวัดทิพพาวาส สำนักงานเขตลาดกระบัง
9.โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ สำนักงานเขตบางเขน

ก่อสร้างที่พักครู 8 รายการ ได้แก่
1.โรงเรียนสุเหร่าอีรั้ว สำนักงานเขตหนองจอก
2.โรงเรียนประชาอุทิศ (จันทาบอนุสรณ์) สำนักงานเขตดอนเมือง
3.โรงเรียนวัดพระยาปลา สำนักงานเขตหนองจอก
4.โรงเรียนวัดประชาบำรุง สำนักงานเขตบางขุนเทียน
5.โรงเรียนสุเหร่าศาลาแดง สำนักงานเขตหนองจอก
6.โรงเรียนสุเหร่าหะยีมินา สำนักงานเขตหนองจอก
7.โรงเรียนสุเหร่าซีรอ (ราษฎร์สามัคคี) สำนักงานเขตสะพานสูง
8.โรงเรียนบางโพโอมาวาส สำนักงานเขตบางกะปิ และงบซ่อมแซมโรงเรียน จัดสรรผ่านสำนักงานเขตให้ทุกโรงเรียน โรงเรียนละ 500,000 บาท เพื่อซ่อมแซมบำรุงรักษาที่โรงเรียนสามารถทำเองได้ เช่น เปลี่ยนประตูห้องน้ำ ซ่อมหลังคา/ฝ้า (เฉพาะจุดที่ชำรุด) ทาสีโรงเรียนจุดที่หลุดร่อน เป็นต้น

5.การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาปฐมวัย

นอกเหนือจากการปรับปรุงกายภาพของโรงเรียน กรุงเทพมหานครยังมุ่งพัฒนา ด้านการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ประกอบด้วย

1.โครงการนำร่อง (Education Sandbox) ร่วมกับสถาบันรักลูกในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในพื้นที่เขตสวนหลวงและเขตหนองแขม ซึ่งจะนำร่องแผนการสอนและกิจกรรม Active Learning ในห้องเรียน ที่ส่งเสริมให้เกิดทักษะสมอง EF (Executive Function) ผ่านการอบรมและติดตามโค้ชชิ่งครูปฐมวัย

2.โครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการคึกษาปฐมวัย ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งจะนำแนวทางจากการนำร่อง มาขยายผลให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ และบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าใจแนวทางการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย มีแผนการสอน รูปแบบกิจกรรมในห้องเรียน และการวัดผลลัพธ์ที่เหมาะสม เช่น DSPM และ EF เป็นต้น

3.โครงการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2568-2570) ซึ่งจะกำหนดแนวทางพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ ตัวชี้วัด และการวัดประเมินผลเด็กปฐมวัยต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งมีเป้าหมายของแผนให้เด็กปฐมวัยในโรงเรียน กทม. มีพัฒนาการสมวัย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม มีทักษะสมอง EF (Executive Function) เพื่อให้เด็ก ๆ มีวินัยเชิงบวก สามารถควบคุมตนเอง คิดเป็นระบบ เป็นขั้นตอน และแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้

6.การปลดล็อกข้อจำกัดและลดภาระครู

โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1.เพิ่มงบรายหัวเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จาก 100 เป็น 600 บาท
2.ค่าอาหารเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จาก 20 เป็น 32 บาทต่อคนต่อปี
3.เพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน (อยู่ระหว่างปรับ)
4.กำชับให้เขตจ่ายเงินค่าตอบแทนและค่าอาหารให้ตรงเวลา
5.ลดภาระงานครู โดยการจ้างเหมาธุรการในโรงเรียนและลดงานเอกสาร ปัจจุบันจ้างเหมาแล้วกว่า 370 อัตรา
6.ปรับเกณฑ์ รูปแบบ และขั้นตอนการเลื่อนวิทยฐานะครูให้เหมาะสม
7.เติมอัตรากำลังครู โดยเฉพาะครูปฐมวัย ครูแนะแนว และครูการศึกษาพิเศษ ให้เพียงพอต่ออัตรากำลังที่ว่างอยู่

“เชื่อว่าหากเราพัฒนาเรื่องเหล่านี้ได้ดี จะส่งผลต่อคุณภาพของเด็ก ที่จะถูกส่งต่อไปในระดับชั้นประถมศึกษาหรือสูงขึ้น และเด็กเหล่านี้ก็จะเป็นบุคลากร คุณภาพของเมืองได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม การใช้งบประมาณทุกอย่างเรา จะทำอย่างโปร่งใส มีการเปิดเผยสัญญา และจะไม่ให้เกิดการทุจริต” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend