BANGKOK

กทม. กางมาตรการเข้ม รองรับค่าดัชนีความร้อนที่สูงขึ้นในเขตเมือง

วันนี้ (7 มี.ค. 67) นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 และสิ้นสุดกลางเดือนพฤษภาคม 2567 โดยคาดการณ์ว่าจะมีอุณหภูมิสูงสุด 44.5 องศาเซลเซียส อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่ออกกำลังกาย หรือใช้แรงงานกลางแจ้ง

หน่วยงานของกรุงเทพฯ ที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักงานเขต 50 เขต สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมจัดทำแผนและวางมาตรการรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครประจำปี 2567 โดยแบ่งเป็น มาตรการดำเนินการตลอดทั้งปี และมาตรการระยะวิกฤต

สำหรับมาตรการดำเนินการตลอดทั้งปี จัดทำแผนและแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่และประชาชน รวมทั้งจัดทำสื่อและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เตรียมแจกจ่ายให้กลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์เป็นระยะ

ด้านป้องกันสุขภาพอนามัยของประชาชน ได้แก่

1.พัฒนาขีดความสามารถเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ประจำชุมชน เจ้าหน้าที่ประจำสวนสาธารณะ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์กีฬา เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เด็กเล็ก ครู และเทศกิจ เพื่อสร้างความรู้และทักษะในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน

2.เตรียมความพร้อมในการดูแลกลุ่มเสี่ยง โดยสำรวจและจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงสำคัญสำหรับวางแผนการดำเนินงานการสื่อสารแจ้งเตือน การดูแลและสนับสนุนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ในการป้องกันสุขภาพ และการติดตามเฝ้าระวังอาการในช่วงวิกฤต สร้างความรู้แก่ อสส. รวมถึงแกนนำในชุมชน เพื่อให้คำแนะนำและดูแลกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่

3.เตรียมความพร้อมของระบบบริการสาธารณสุข ทั้งจัดเตรียมยาเวชภัณฑ์ และจัดเตรียมศูนย์คลายร้อนในสถานพยาบาล

4.เฝ้าระวังสถานการณ์การเจ็บป่วยจากความร้อน และรายงานผู้ป่วยที่มารับการรักษาทุกสัปดาห์

5.เตรียมความพร้อมของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center: PHEOC) กรณีความร้อน จัดทำแผนปฏิบัติการฯ และหากค่าอุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 43.1 องศาเซลเซียส

ด้านลดอุณหภูมิเมือง ได้แก่

1.เพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ล้านต้น สวน 15 นาที

2.สร้างช่องเปิดให้อาคาร ออกแบบให้อาคารหรือตึกสูงมีความพรุนเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างช่องเปิดในตัวอาคารให้เพียงพอ พัฒนาเส้นทางลมที่เหมาะสมเข้าสู่เขตเมือง และขจัดความร้อนสะสมในเมือง

3.เติมน้ำให้กับพื้นที่เมือง ออกแบบให้คงแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมภายในเมือง และสร้างการขยายตัวของแหล่งน้ำขนาดเล็กและพื้นที่รับน้ำอย่างเพียงพอ

4.เปลี่ยนวัสดุพื้นผิวให้ระบายความร้อน เพิ่มระบบระบายความร้อนด้วยน้ำให้กับตัวอาคาร เช่น Cooling Facade System หรือ District Cooling System ซึ่งเป็นการใช้ระบบน้ำภายในหล่อเย็นตัวอาคารเพื่อถ่ายเทความร้อนออกไปภายนอกอาคาร

ส่วนมาตรการระยะวิกฤต ดำเนินการเฝ้าระวัง เตือนภัยสถานการณ์ในพื้นที่มีปัญหาความร้อน พร้อมกำหนดแนวทางให้หน่วยงาน ดังนี้

ระดับ/ดัชนีความร้อน เฝ้าระวัง อุณหภูมิ 27.0-32.9 องศาเซลเซียส โดยติดตามตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ด้านการป้องกันสุขภาพอนามัย เฝ้าระวังเตือนภัยสุขภาพในพื้นที่มีปัญหาความร้อนแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำหนดบทบาทหน้าที่แต่ละหน่วยในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ระดับ/ดัชนีความร้อน เตือนภัย อุณหภูมิ 33.0-41.9 องศาเซลเซียส ให้แจ้งเตือนสถานการณ์ความร้อนให้ประชาชนทราบทุกวัน ผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก pr-bangkok สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ป้ายจราจรอัจฉริยะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป้ายบนรถไฟฟ้า BTS รายงาน เวลา 07.00 น. รายงานข้อมูลการคาดการณ์สถานการณ์ความร้อน 7 วันล่วงหน้า ของกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ความรู้แก่ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ จ้งสถาบันพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุดูแลกลุ่มเสี่ยง สถานพยาบาลเตรียมระบบส่งต่อผู้ป่วย เตรียมศูนย์คลายร้อน (cool room) ใช้เป็นที่พักชั่วคราว

ระดับ/ดัชนีความร้อน อันตราย อุณหภูมิ 42.0-51.9 องศาเซลเซียส เพิ่มความถี่ของการรายงานและแจ้งเตือนวันละ 2 ครั้ง เวลา 07.00 และ 11.00 น. ให้คำแนะนำการดูแลป้องกันตนเองกับประชาชนกลุ่มเสี่ยง สถานพยาบาลปรับตารางนัดผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นในช่วงที่อากาศร้อนจัด เตรียมความพร้อมของระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน อสส.ออกเยี่ยมบ้านติดตามอาการของประชาชนกลุ่มเสี่ยง

ระดับ/ดัชนีความร้อน อันตรายมาก อุณหภูมิมากกว่า 52.0 องศาเซลเซียส เพิ่มความถี่ของการรายงานและแจ้งเตือนวันละ 3 ครั้ง เวลา 07.00 น. 11.00 น. และ 15.00 น. จัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพประชาชน และเตรียมความพร้อมของระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลยกเลิกนัดผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นในช่วงที่อากาศร้อนจัด แพทย์ และ อสส. ออกเยี่ยมบ้านติดตามอาการของประชาชนกลุ่มเสี่ยง

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับกลุ่มเสี่ยงในช่วงสถานการณ์ที่ระดับค่าดัชนีความร้อนพุ่งสูงอยู่ในระดับอันตราย มีดังนี้

1.เด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบ อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในรถที่จอดตากแดดตามลำพังโดยเด็ดขาด สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน และระบายความร้อนได้ดี ดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กจะเจ็บป่วยง่ายกว่าผู้ใหญ่

2.ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ระหว่างวัน ในช่วงที่อากาศร้อนควรอยู่ในบ้านพักหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรเปิดพัดลมแบบส่าย และเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศร้อน สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน และมีน้ำหนักเบา อาบน้ำบ่อย ๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย

3.ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ระหว่างวัน ในช่วงที่อากาศร้อนควรอยู่ในบ้านพักหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน และมีน้ำหนักเบา อาบน้ำบ่อย ๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย

4.หญิงตั้งครรภ์ ดื่มน้ำสะอาด 2-4 แก้วต่อชั่วโมง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบริเวณลำคอ ศีรษะ ลำตัว เพื่อลดอุณหภูมิ หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงที่ร้อนจัด ควรเปิดพัดลมแบบส่าย และเปิดหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศที่ร้อน หากมีอาการตัวร้อนมาก หน้ามืด อ่อนเพลีย ให้พักในที่ร่ม หากไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที ให้รีบพบแพทย์

5.ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ในระหว่างที่ทำงาน เปลี่ยนตารางเวลาทำงานกลางแจ้ง โดยเริ่มทำงานในช่วงเช้าหรือช่วงสาย หลีกเลี่ยงการทำงานในช่วงเที่ยงวัน สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี

6.ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งลง สวมใส่ชุดออกกำลังกายที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้น

Related Posts

Send this to a friend