BANGKOK

กทม. เดินหน้าพัฒนา ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ ตั้งเป้า 437 โรงเรียนในปี 68​

กทม. เดินหน้าพัฒนา ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ ตั้งเป้าขยายครบ 437 โรงเรียนในปี 68​ ปกป้องเด็กจาก PM2.5

วันนี้​ (11 ม.ค. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ร่วมกับโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นของ สสส. กรมอนามัย และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชนให้ตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนในสังกัดเข้าร่วม 32 โรงเรียน และจะขยายความร่วมมือให้ครบ 437 โรงเรียน โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ การจัดทำเครื่องวัดคุณภาพอากาศ 405 ชุด เพื่อประกอบเป็นเครื่องวัดคุณภาพอากาศ​ อยู่ระหว่างส่งมอบให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยส่งมอบแล้ว 382 เครื่อง

ทั้งนี้​ กรมอนามัยจะดำเนินการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น สำหรับกลุ่มเด็กอนุบาล อายุประมาณ 4-6 ปี (อนุบาล 1-2) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จาก 429 โรงเรียน โดยมีห้องเรียนทั้งสิ้น 1,996 ห้อง แบ่งออกเป็น​ ห้องเรียนเดิมมีแอร์ 696 ห้อง,​ ห้อง CSR หรือห้อง+แอร์ 48 ห้อง, ห้องที่ปรับปรุงโดยสำนักงานเขต 227 ห้อง และห้องที่ปรับปรุงโดยสำนักการศึกษา 995 ห้อง​ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำ TOR จำนวน 6 กลุ่มเขต กรุงเทพกลาง 49 ห้อง กรุงเทพเหนือ 126 ห้อง กรุงเทพใต้ 29 ห้อง กรุงเทพตะวันออก 437 ห้อง กรุงธนเหนือ 140 ห้อง กรุงธนใต้ 214 ห้อง รวมทั้งสิ้น 995 ห้อง

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงเรียนวัดราชผาติการาม สำนักงานเขตดุสิต มีการดำเนินการห้องเรียนปลออดฝุ่น แบบเติมอากาศสะอาดความดันบวก โดยได้รับการสนับสนุน จากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

นอกจากนี้​ ยังมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงเรียน โดยกรุงเทพมหานคร ทำบันทึกความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง โครงการร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และร่วมพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และร่วมพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน พร้อมรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ และพิจารณาร่างสัญญาโดยสำนักการโยธา และสำนักการระบายน้ำ เพื่อเริ่มดำเนินการติดตั้ง หากสัญญาเรียบร้อย​ สำนักการศึกษาจะดำเนินการในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ รวม 50 โรงเรียน และในปี พ.ศ. 2568 จะดำเนินการคัดเลือกจากโรงเรียนที่มีค่าไฟฟ้าเกิน 50,000 บาท/เดือนขึ้นไป และโรงเรียนมีสภาพพร้อมในการติดตั้งเพื่อดำเนินการโครงการ

Related Posts

Send this to a friend