BANGKOK

แก้ปัญหารถบรรทุกนํ้าหนักเกิน เตรียมสุ่มตรวจไซต์ก่อสร้างทั่ว กทม.

‘ชัชชาติ’ ประชุมร่วม ‘พล.ต.อ.สุรเชษฐ์’ และอธิบดีกรมทางหลวง แก้ปัญหารถบรรทุกนํ้าหนักเกิน เตรียมสุ่มตรวจไซต์ก่อสร้างทั่ว กทม. ยืนยันพร้อมดำเนินการจริงจังระยะยาว

วันนี้ (10 พ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมประชุมหารือกรณีการบังคับใช้กฎหมาย และแนวทางการแก้ไขปัญหารถบรรทุกนํ้าหนักเกินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติ กล่าวว่า เจ้าพนักงานทางหลวงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ กทม. มีหน้าที่จับกุมและส่งให้เจ้าหน้าที่ตํารวจดําเนินคดี โดยที่ผ่านมา ผู้ที่ตรวจวัดนํ้าหนักรถบรรทุกคือเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง ยอมรับว่าที่ผ่านมา กทม. ไม่เคยจับผู้กระผิดในลักษณะนี้มาก่อน หลังจากนี้จะขอความร่วมมือจากกรมทางหลวงในเรื่องของอุปกรณ์วัดนํ้าหนักรถบรรทุกแบบเคลื่อนที่และส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยฝึกอบรมการใช้อุปกรณ์เป็นระยะเวลา 1 เดือน รวมถึงจัดตั้งศูนย์ดูแลโดยเฉพาะร่วมกับเจ้าหน้าที่ตํารวจในการบังคับใช้กฎหมาย

นายสราวุธ กล่าวว่า กรมทางหลวงมีหน้าที่กํากับดูแลการบรรทุกนํ้าหนักบนถนน 5 หมื่นกว่ากิโลเมตร ซึ่งมีเครื่องชั่งนํ้าหนักหรือด่านถาวร 101 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีเครื่องชั่งแบบเคลื่อนที่ ซึ่ง กทม.ขอยืมไปใช้จํานวน 2 เครื่อง ยอมรับว่าด่านทั้ง 101 แห่ง อาจไม่ครอบคลุมเส้นทางทั้งหมด แต่จะเป็นเส้นทางหลักที่รถบรรทุกผ่าน ปัจจุบันรถบรรทุกที่นํ้าหนักเกินมักจะหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีด่านตรวจ หากพบเห็นกรมทางหลวงจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบทันที

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากนี้จะมีการออกตรวจร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงาน โดยมีแผนในเรื่องของการจราจร ลดปัญหาการจราจรติดขัดจากการที่รถบรรทุกวิ่งเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกําหนด อีกส่วนหนึ่งคือออกแผนสุ่มตรวจไซต์งานก่อสร้างกว่า 300 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ป้องกันรถบรรทุกนํ้าหนักเกิน ส่วนคดีรถบรรทุกที่ สน.พระโขนง ขณะนี้พบความผิดในส่วนของเจ้าของรถบรรทุกแล้ว ซึ่งเจ้าของมีรถบรรทุกอยู่ 8 คัน ทุกคันมีสติ๊กเกอร์ติดอยู่หน้ารถ แต่จะเป็นส่วยสติ๊กเกอร์หรือไม่ ไม่สามารถตอบได้เพราะไม่ได้ดูแลเรื่องนี้

นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก กําหนดให้รถบรรทุกติดตั้งจีพีเอส หากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ จะช่วยให้ไม่ต้องไปตั้งด่านตรวจเพราะสามารถดูได้จากจอว่ารถบรรทุกคันใดวิ่งเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกําหนดบ้าง ใช้เป็นหลักฐานในการดําเนินคดี ส่วนปัญหาจุดก่อสร้างบ่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ประชาชนร้องเรียนเข้ามาเยอะในเรื่องของฝาบ่อที่ไม่เรียบ หากมีจุดไหนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ นายชัชชาติ ยืนยันว่าการดําเนินการตรวจจับรถบรรทุกนํ้าหนักเกิน ไม่ใช่แค่ช่วงนี้ แต่จะดําเนินการอย่างจริงจังในระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาเพราะถือเป็นสิ่งสําคัญและกระทบต่อประชาชน

Related Posts

Send this to a friend