สนข. แนะนำแอป นำทาง “NAMTANG” เช็คความหนาแน่นผู้ใช้บริการที่สถานี หรือท่าเรือ
วางแผนการเดินทางได้ในช่วงลอยกระทง หลังประเมินปริมาณการเดินทางของนักท่องเที่ยว และประชาชนเข้าพื้นที่จัดงานจะมากกว่าปกติ
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนไปยังพื้นที่จัดงาน โดยเลือกเทศกาลลอยกระทงเป็นโครงการนำร่องในการจัดทำระบบ “การแจ้งเตือนความหนาแน่นผู้ใช้บริการขนส่งมวลชนผ่านแอปพลิเคชัน NAMTANG (เทศกาลลอยกระทง 2565)” เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในสถานี หรือท่าเรือปลายทาง ของระบบขนส่งมวลชนทางรางและทางน้ำที่อยู่ใกล้ หรือสามารถเชื่อมต่อเข้าไปยังพื้นที่จัดงาน เพื่อนำมาวางแผนการเดินทางได้
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน สนข. จะติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และป้อนข้อมูลแจ้งเตือนเข้าสู่ระบบ รวมทั้งติดตามตรวจสอบสถานการณ์และรายงานสถานการณ์จากในพื้นที่จัดงาน/สถานี/ท่าเรือ ก่อนนำมาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ปริมาณความหนาแน่นที่จะใช้ “เฝ้าระวัง” และ “แจ้งเตือน” ผ่านแอปพลิเคชัน NAMTANG ประกอบด้วย ข้อมูลสถานที่จัดงานของภาคเอกชน/ส่วนราชการ , ข้อมูลท่าเรือ / สะพานที่สามารถเข้าถึงและประชาชนนิยมไปลอยกระทง , ข้อมูลแหล่งสันทนาการใกล้เคียงพื้นที่จัดงาน , ข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการท่าเรือสำคัญในวันลอยกระทง (Real Time) ของกรมเจ้าท่า , ข้อมูลจำนวนผู้ใช้บริการสถานีสำคัญในวันลอยกระทง ของ MRT และ การเข้าถึง/เชื่อมต่อโครงข่ายการให้บริการทางรางและทางน้ำ (สถานีรถไฟฟ้า/ท่าเรือ)
ทั้งนี้ จะมีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน NAMTANG ในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 25653 จำนวน 3 ช่วงเวลา คือ 17.00 น. , 18.00 น. และ 19.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดการณ์ว่า กลุ่มเป้าหมายจะเริ่มเดินทางไปยังพื้นที่จัดงานที่มีกิจกรรมที่สามารถดึงดูดประชาชนจากนอกพื้นที่ เดินทางเข้ามายังพื้นที่จัดงานในช่วงเย็นถึงค่ำของวันลอยกระทง
สำหรับ พื้นที่เป้าหมายที่ สนข. จะติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวัง โดยแบ่งพื้นที่เป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม รวม 27 สถานที่ โดย
กลุ่มที่ 1 คือ พื้นที่จัดงาน “เทศกาลสายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย Bangkok River Festival 2022 ครั้งที่ 8” ประกอบด้วย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ท่าเรือข้ามฟากท่าเตียน-วัดอรุณ) , วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (ท่าเรือข้ามฟากท่าเตียน-วัดอรุณ) , วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (ท่าเรือข้ามฟากท่าช้าง-วัดระฆัง) , วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร (ท่าเรือข้ามฟากปากคลองตลาด-วัดกัลยาณมิตร) , วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (ท่าเรือสะพานพุทธ) , ศาลเจ้ากวนอู (ท่าเรือคลองสาน) , ท่ามหาราช (ท่าเรือมหาราช) , เดอะล้ง 1919 (สถานีคลองสาน) , สุขสยาม ณ ไอคอนสยาม (สายสีทอง สถานีเจริญนคร / ท่าเรือ Icon Siam 1) และ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ (สถานีสะพานตากสิน / ท่าเรือสาทร / ท่าเรือวัดราชสิงขร)
กลุ่มที่ 2 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรมทางหลวงชนบท ประกอบด้วย สะพานพระราม 4 (ท่าเรือปากเกร็ด / ท่าเรือข้ามฟากปากเกร็ด-วัชรีวงศ์ / ท่าเรือข้ามฟากปากเกร็ด-วัดเตย) , สะพานพระราม 5 (ท่าเรือพระราม 5 / ท่าเรือพิบูลสงคราม 2) , สะพานพระราม 7 (ท่าเรือวัดสร้อยทอง) , สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (ท่าเรือพระปิ่นเกล้า / ท่าเรือข้ามฟากพระอาทิตย์-พระปิ่นเกล้า) , สะพานพระพุทธยอดฟ้า (ท่าเรือสะพานพุทธ) , สะพานพระปกเกล้า (ท่าเรือสะพานพุทธ) , สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ท่าเรือสาทร / สถานีสะพานตากสิน) , สะพานกรุงธน (ท่าเรือสะพานกรุงธน) , สะพานภูมิพล 1 (ท่าเรือเชิงสะพานภูมิพล 1 / ท่าเรือข้ามฟากคลองลัดโพธิ์) และ สะพานภูมิพล 2 (ท่าเรือข้ามฟากพระประแดง-ปู่เจ้าสมิงพราย)
กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ได้รับความนิยม ประกอบด้วย สวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) , คลองโอ่งอ่าง (MRT สถานีสามยอด) , งานลอยกระทง ม.เกษตร บางเขน (สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) , สวนลุมพินี (สถานีศาลาแดง / สถานีสีลม) , สวนสันติชัยปราการ (ท่าเรือพระอาทิตย์) , สวนจตุจักร (สถานีหมอชิต /สถานีสวนจตุจักร) , และ สวนวชิรเบญจทัศ หรือ สวนรถไฟ (สถานีสวนจตุจักร)
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสามารถดาวน์โหลด NAMTANG ผ่าน App Store และ Play Store โดยใช้ค้นหาคำว่า “Namtang” หรือ “นำทาง” จากนั้นเข้าเมนูและเลือกหัวข้อเหตุการณ์ และเมื่อกดเลือกเหตุการณ์ที่ต้องการ แอปพลิเคชันจะนำทางท่านไปยังตำแหน่งที่เกิดเหตุการณ์พร้อมข้อมูลรายละเอียดของเหตุการณ์นั้น ๆ