TECH

ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างไรให้ปลอดภัย

ในยุคที่โลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด ในบางประเทศร้านค้าไม่รับเงินสดแล้ว และในประเทศไทยเอง ก็เริ่มใช้การยิง QR Code ชำระค่าสินค้า โอนเงินผ่าน Prompt Pay และใช้กระเป๋าเงินอิเลกทรอนิกส์ (e-Wallet) ทั้งจากผู้ให้บริการที่เป็น Bank และ Non-Bank ต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ใช้ใหม่ๆ และกลุ่มผู้ยังไม่เคยลองใช้อีกจำนวนมากที่มีความกังวลเกี่ยวกับการหลอกลวง ต้มตุ๋น หรือมาตรฐานความปลอดภัยของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

ในความเป็นจริงแล้วระบบความปลอดภัยของ e-Wallet ได้ผ่านข้อกำหนดของมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสูง มีการเข้ารหัสด้วยอัลกอริทึม และใช้การเข้ารหัสชั้นสูงสำหรับข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่น ข้อมูลบัญชีธนาคาร หมายเลขบัตรเครดิต ฯลฯ นอกจากนี้ ระหว่างการทำธุรกรรมจะมีการใช้รหัสเฉพาะขึ้นมาในแต่ละชุดแบบสุ่มไม่ซ้ำกัน โดยการดำเนินการเกี่ยวกับ e-Wallet ทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นเดียวกับสถาบันทางการเงินอีกด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยสถิติล่าสุดระหว่างปี 2561 – 2562 พบคนไทยตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมการล่อลวงบนโซเชียลสูงเกือบ 6 พันราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1.1 พันล้านบาท โดยเทคนิคที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุดและได้ผลกับคนไทยที่สุด คือ การฟิชชิ่ง (Phishing) สร้างเว็บไซต์ปลอม โปรไฟล์ปลอม หรือสวมรอยโดยใช้รูปปลอมบนโซเชียล และนำข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายไป log-in และทำธุรกรรม

“ตั้งสติก่อนกดอนุญาต” จะได้ไม่พลาดโดนหลอก

รูปแบบการหลอกลวงรูปแบบหนึ่งที่ถูกผู้โจมตีนำมาใช้เสมอ คือการส่งอีเมล์ หรือ SMS ข้อความเตือนแปลกๆ เพื่อให้กดอนุมัติ อนุญาต หรือตั้งค่าตาม หรือแม้แต่การส่ง OTP ที่เราไม่ได้ขอเข้ามา ขอให้ผู้ใช้ ตั้งสติ และอ่านข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนกดอนุญาตหรือดำเนินการใดๆ เพราะอาจจะพลาดเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์ได้ 

จึงเห็นได้ว่า ปัญหาหลักอยู่ที่การหลงเชื่อฟิชชิ่งเมล์ หรือข้อความหลอกลวงที่ส่งเข้ามาทางช่องทางต่างๆ และเผลอทำตาม เช่น การให้ข้อมูล การให้รหัส การเข้าล็อกอินผ่านหน้าเว็บไซต์ปลอมที่กดจากลิงค์ไปโดยไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้ตัว

ทรูมันนี่ ประเทศไทย หนึ่งในผู้นำบริการ e-Payment และ e-Wallet ในประเทศไทย แนะนำเทคนิคการใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัย ได้แก่

  • ไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงินใดๆ รวมทั้งไม่เปิดเผยรหัส OTP ที่ได้รับให้ใครเด็ดขาด
    สถาบันการเงินและผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีนโยบายในการติดต่อลูกค้าเพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินของลูกค้า ทั้งทางอีเมล และ SMS หากผู้ใช้บริการพบความผิดปกติ ควรติดต่อศูนย์บริการลูกค้าของผู้ให้บริการ หรือสถาบันการเงินโดยตรงก่อนการกรอก หรือให้ข้อมูลใดๆ

  • ตั้งสติ ไตร่ตรองให้ดี ไม่หลงเชื่อข่าวหรือข้อมูลอะไรง่าย ๆ แม้จะเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักแชร์มา ควรตรวจสอบแหล่งที่มา และความน่าเชื่อถือของข่าวก่อนเสมอ โดยเฉพาะข่าวชวนบริจาคเงินร่วมกับคนดัง ๆ

  • หากได้รับข้อความยืมเงินหรือขอข้อมูลส่วนตัวแม้จากคนใกล้ชิด ก็ควรโทรสอบถามว่าใช่เจ้าตัวจริง ๆ ก่อนตัดสินใจทำอะไร

  • อย่าเชื่อการเสนอเงินฝาก เงินออมนอกระบบโดยให้ดอกเบี้ยสูง ไม่ควรยุ่งเกี่ยว หรือให้ข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ เด็ดขาด

  • ระมัดระวังรักษาความปลอดภัยของแอคเคาท์ที่ใช้เชื่อมต่อทางการเงินต่างๆ โดยหมั่นเปลี่ยนแปลงรหัสผ่าน เป็นประจำ และเพิ่มระดับความยากในการเจาะรหัสผ่าน และเปลี่ยนทันทีหากสงสัยมีคนพยายามเข้ารหัสของเรา  และควร log out หรือ ออกจากระบบทุกครั้งที่ใช้งานกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อย

ยิ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีมากเท่าไร สติยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น เพราะไม่ว่าระบบจะมีความปลอดภัยสูงแค่ไหน แต่หากเรายังยื่นกุญแจหรือกระเป๋าเงิน (รหัสผ่าน, ข้อมูลส่วนตัว, เลขที่บัญชีธนาคาร) ให้กับมิจฉาชีพอย่างง่ายดาย ก็ไม่สามารถปกป้องเงินในกระเป๋าสตางค์ของเราได้อยู่ดี หากพบพิรุธหรือความผิดปกติเกี่ยวกับบัญชีทรูมันนี่ สามารถติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าได้ที่ 1240 หรือติดต่อ Call Center ธนาคารเจ้าของบัญชีได้ตลอด 24 ชม.

Related Posts

Send this to a friend