TECH

2 ความเสี่ยง 4 คำถาม – ก่อนตามแห่ เล่น ‘เกมคริปโต’

ยุคนี้เกมคริปโต หรือ “Gamefi” หรือเกม NFT เป็นกระแสฮิตในหมู่คนรุ่นใหม่ ต่างพากันเจียดเงินเก็บ ทุ่มเงินออม ไปลงในเกมกันอย่างคึกคัก

ตัวอย่างเกม NFT เริ่มเป็นที่นิยมใหม่ๆ เช่น Axie Infinity ซื้อและเลี้ยงสัตว์ประหลาดแทนเงินคริปโต, CryptoCars ซื้อและสะสมรถ (ในเกม) แทนเงินคริปโต, ฯลฯ

เกมเหล่านี้จะเล่นได้  ก็มักต้องเริ่มด้วยการจ่ายค่าซื้อ “เหรียญ” ในเกม จากนั้นก็นำเหรียญไปซื้อตัวละครหรือสิ่งของในเกม  แล้วคลิกนำตัวละครกับสิ่งของไปทำภารกิจต่างๆ พร้อมกับสะสมตัวละครและสิ่งของเพิ่มไปเรื่อยๆ

แล้วหลังจากนั้นตัวเงินเหรียญในเกมก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาและภารกิจที่ทำ ใช้เวลาเป็นเดือนๆหรือๆเป็นปีจึงจะคืนทุนที่ลงไปตอนแรก

ความเสี่ยงแรก ก็คือ เมื่อถึงจุดนั้น  แม้เหรียญในเกมจะเพิ่มขึ้นตามกติกา   แต่มูลค่าจริงๆของเหรียญเมื่อแลกกลับมาเป็นเงินจริง  ก็อาจลดลงอย่างมากแล้ว  ด้วยหลายเหตุผลที่จะกล่าวต่อไป

ความเสี่ยงที่สอง ที่น่ากลัวขึ้นไปอีก   คือเกมอาจจะปิดไปดื้อๆก่อนที่เราจะคุ้มทุน  หรือปิดไปก่อนที่เราจะถอนเงินทัน  ซึ่งในวงการนี้จะเรียกว่า “rug pull”  คือทีมงานเจ้าของเกม  ชักปลั๊ก  หอบเงินหนีหายไป หรือไม่ก็ถูกแฮคเกอร์มือที่สามมาเจาะระบบขโมยเงินไปทั้งหมด ฯลฯ

ซึ่งการถอนเงินแต่ละครั้งนั้นก็มีค่าธรรมเนียม  จึงทำให้หลายคนประมาท ปล่อยให้เงินที่คุ้มทุนบวกกำไรแล้วค้างไว้ในเกม  จนตัวเกมปิดไปไม่รู้ตัว  สูญเงินต้นและกำไรไปทั้งหมด

เกมเหล่านี้จึงถูกเรียกว่าเกม “play to earn”  หรือ click to earn” เล่นเพื่อรอวันคืนทุน เล่นเพื่อหวังกำไรซึ่งอาจจะเป็นเดือนๆหรือปี หรือหลายคนก็ขาดทุนมากน้อยต่างกันไป

ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไร  ว่าเหรียญไหน  เกมใด  จะมีความเสี่ยงสูงมากน้อยแค่ไหนที่จะดิ่งลงหรือเกิดการ  บ๊ายบาย ล้มลงเสมือนแชร์ล้ม  หรือเกิดการชักปลั๊ก rug pull หนีไป ?

คำตอบ (หรือคำถาม) ที่ 1 ก็คือดูว่า เจ้าของโปรเจ็คนั้นเหรียญนั้น หรือทีมพัฒนาเกมนั้น   เปิดหน้า  หรือไม่ ?  คือมีการเผยชื่อจริง ประวัติจริง และหน้าตา ไม่ว่าจะในเว็บไซต์  ในสื่อโซเชียลหรือไม่ ?  หรือถ้าเคยไปให้สัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆยิ่งดี

ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบางเกมที่มีเว็บไซต์  มีชื่อทีมงาน  แต่เมื่อลงลึกไปถึงรายบุคคล  กลับมีแต่เพียงชื่อแฝงในโซเชียลเช่นชื่อใน Twitter หรือ Discord ซึ่งเป็นโซเชียลาำหรับคอเกม   และรูปก็เป็นแค่อวาตาร์การ์ตูน  แล้วสุดท้ายผ่านไปไม่กี่เดือนก็ปิดเกมหอบเงินหนีหายไป

คำถามที่ 2  มี VIP หรือทีมผู้พัฒนาเกม  ได้เหรียญสมนาคุณไปเปล่าๆ โดยไม่ต้องเล่นเกมนั้นหรือไม่ ? และมากแค่ไหน ?

ซึ่งหลายๆเกมจะมีบอกไว้ใน “white paper”  เมื่อเปิดตัวเกม  ว่ามีเหรียญทั้งหมดในระบบนั้น  ไม่ได้ถูกจัดสรรให้คนเล่นเองแต่อย่างใด   เพรราะมีส่วนหนึ่งจัดสรรให้ทีมนักพัฒนาหรือเจ้าของเกมเอง   อีกส่วนหนึ่งจัดสรรให้กลุ่มผู้ร่วมหุ้นร่วมลงทุน  ฯลฯ

ซึ่งถ้าเกมไหนมี โควต้า VIP”  นี้มาก   ความเสี่ยงก็มากกว่า   เพราะว่าผู้ถือครองเหรียญกลุ่มนี้จะขายที่เท่าไรก็ยังได้กำไร   จึงอาจเทขายทุบเหรียญราคาดิ่งเมื่อไรก็ได้ถ้าเทมากพอ

คำถามที่ 3 ก็คือ การจะได้เหรียญในเกมนั้น ยากหรือง่าย ช้าหรือเร็วแค่ไหน ? “

เช่นสมมติมีเกมชื่อ Abc และเหรียญชื่อเดียวกัน  ที่เมื่อจ่ายเงินจริง ซื้อตัวละครและเครื่องมือแล้ว  แค่เข้าไปคลิกไม่กี่ที หรือ “Click To Earn” ก็ได้เหรียญ Abc กลับมาอย่างง่ายดายจำนวนมากๆ เล่นแค่ไม่ถึงเดือน หรือไม่กี่เดือน ก็คืนทุนได้  แบบนี้ก็เป็นไปได้ว่าเงิน Abc จะ  เฟ้อ และหมดมูลค่าอย่างรวดเร็ว

ตรงกันข้าม  ถ้าอีกเกม ชื่อ Xyz ต้องใช้ความพยายามบางอย่างในการเล่น หรือ  “Play To Earn”  เช่นต้องแข่งขันบ้าง  หรือใช้ความพยายามสร้างอะไรบางอย่าง  และจำนวนเหรียญที่ได้ไม่มากนัก  ต้องเล่นหลายเดือนหรือเป็นปีถึงจะคืนทุน  ก็แปลว่าเหรียญ Xyz นี้มีความเสี่ยงต่ำที่จะเฟ้อ

แล้วจะรู้ได้อย่างไร  ว่าอย่างไรง่าย  อย่างไรยาก  หรือเท่าไรช้า  เท่าไรเร็ว ?  คำตอบก็คงต้องเปรียบเทียบเกมที่เราสนใจกับเกมอื่นๆ 

เช่นอาจจะไปเทียบกับเกมดังๆที่ค่อนข้างมั่นคงอย่าง Axie หรือ The Sandbox ถ้าใกล้เคียงกันก็ถือว่าไม่เสี่ยงสูงมาก (แต่ก็ยังเสี่ยงอยู่ดี)

หรือถ้าเทียบแล้ว ไปใกล้เคียงเกมที่เคยทำให้คนเจ๊งมากมายเช่น CryptoMines  ก็แปลว่าเกมที่เราสนใจนั้นเสี่ยงสูงเกินไป  ไม่น่าเข้า

คำถามที่ 4   ปริมาณเหรียญในเกมนั้น  ถูกจำกัดเพดาน ป้องกันการเฟ้อไว้หรือไม่ ? เช่นในอนาคตเมื่อเล่นกันจนเหรียญรวมทั้งระบบมีมากระดับหนึ่ง  จะเปลี่ยนผลตอบแทนในการเล่นเป็นสิทธิอย่างอื่นแทน 

หรือหลายเกมก็มีเกณฑ์ตั้งไว้ว่าจะมีการลดปริมาณเหรียญ หรือเผาทิ้ง ( Burst ) เพื่อป้องกันการเฟ้อจนหมดมูลค่า  

ทั้งนี้อาจมีการตั้งเงื่อนไขไว้ตามเวลาว่าจะทำลายทิ้งจำนวนหนึ่ง-ทุกๆรอบเวลาเท่าไร  หรือตั้งเงื่อนไขปริมาณว่าจะทำลายทิ้งจำนวนหนึ่ง-เมื่อปริมาณเหรียญรวมทั้งระบบเพิ่มขึ้นมาระดับเท่าไร  เป็นต้น

ซึ่งเกมไหนมีการควบคุมให้เหรียญเพิ่มยากๆ ลดง่ายๆ  ก็มีแนวโน้มว่าจะเสี่ยงต่ำ  มูลค่าเหรียญน่าจะมั่นคงหรือเพิ่มขึ้นได้กว่าเหรียญที่ไม่มีลิมิต  ปล่อยเหรียญเพิ่มเข้าระบบได้เรื่อยๆง่ายๆ

โดยสรุปแล้ว 4 คำถามนี้เป็นเรื่องจำเป็น  แต่อาจยังไม่เพียงพอ    เพราะก็ยังมีคำถามอื่นๆอีกที่ต่างกันไปในแต่ละเกม  และในอนาคตก็คงมีคพถามใหม่ๆ คำตอบใหม่ๆขึ้นมาอีกเรื่อยๆ

และสุดท้าย  ก็ต้องระลึกไว้ว่า  การที่เกมเหล่านี้ทำกำไรให้เราได้  ก็แปลว่าทางเจ้าของเกมสามารถหาเงินมาจ่ายให้เราได้   ซึ่งที่มาของเงินนั้นส่วนใหญ่ก็ต้องมาจากการที่มีคนใหม่ๆมาเล่นเกมนั้น

นั่นแปลว่าการที่เกมๆหนึ่งจะสร้างรายได้ให้ทุกคนได้เรื่อยๆ  โดยมูลค่าเหรียญในเกมก็ไม่ลดลง  ก็ต้องมีคนใหม่ๆมาเล่นเกมนั้นเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   …ซึ่งนี่เป็นลักษณะที่คล้าย แชร์ลูกโซ่”  หรือ “Ponzi” อยู่ไม่น้อย

สุดท้ายของท้ายสุด  บทความนี้ไม่ใช่การ เชียร์ให้เล่น  หรือ เชียร์ให้เลี่ยง”  และไม่ใช่การแนะนำเกมน่าเล่นแต่อย่างใด   …  เป็นแต่เพียงการแนะนำให้มือใหม่ หรือคนที่ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน  ได้มาไล่เรียงความเสี่ยงต่างๆ  เพื่อเป็นฐานไปหาความรู้เพิ่มเติมเท่านั้น  โดยอาจรู้ไว้โดยไม่ต้องไปเล่นก็ได้

ภาพประกอบจาก
playtoearn.online/best-play-to-earn-games-with-nfts-or-crypto 
esports.net/news/best-play-to-earn-games 

Related Posts

Send this to a friend